ภาพซ้าย : ผู้เขียน (ขวาสุด) กับผู้เข้าร่วมเสวนาในโครงการร่วมกันอีก 3 ท่าน
ภาษิตดังกล่าว ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าได้เคยอ่านพบที่ไหน แต่ก็มีความรู้สึกเห็นด้วย แม้จะฟังดูเป็นทุนนิยมหน่อย ๆ ก็ตามครับ
แต่ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า เราจะไปคิดในแง่ไม่เคารพนับถือบิดามาราดาของเรานะครับ บิดามารดาคือบุคคลสูงสุดที่เราต้องให้ความเคารพ
ความหมายของภาษิตนี้ก็คือ ตัวเรามิได้อยู่กับบิดามารดาตลอดไป เราจะพึ่งพาบิดามารดาตลอดไปไม่ได้ เราต้องมีแผนในการบริหารเงินทองที่เราหามาได้ และเป็นเหมือนข้อเตือนใจ ที่เราควรจะแผนในการบริหารเงินที่เราหามาได้อย่างถูกวิธี
คำคมข้างต้น ผู้เขียนได้ยกขึ้นมากล่าว ในโอกาสที่ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปร่วมเสวนาในหัวข้อ "การดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง (การออมเงิน)" แก่บุคลากรที่เข้ามาทำงานใหม่ในโครงการ "การอบรมปฐมนิเทศพนักงานใหม่ ประจำปี 2552" ในหน่วยงานที่ผู้เขียนทำงานอยู่
หัวข้อที่พูดถึงนั้น มีเป้าหมายที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผ่านมาของตัวผู้เข้าร่วมเสวนา ในเรื่องของแนวทางการทำงานและการดำเนินชีวิตของแต่ละท่าน และการบริหารเงินออมของแต่ละท่านที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร เพื่อเป็นให้บุคลากรรุ่นใหม่ เกิดความตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการออมเงินนั่นเอง
เนื้อหาที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปในระหว่างการเสวนานั้น พอที่จะสรุปประเด็นได้ดังนี้ครับ
1. ให้เริ่มต้นที่จะออมเงินนับแต่วันนี้เลย มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของเรา อาจจะเริ่มต้นที่เดือนละ 100 บาท ก็ได้ (ไม่มีจำกัดวงเงิน-แต่ถ้าต้องการให้เงินออมสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างดี และก้าวไปสู่การลงทุนในอนาคตได้ ควรที่จะเริ่มที่ 10% ของรายได้)
2. อย่าเข้มงวดกับแผนการออมมากจนเกินไป จนทำให้การใช้จ่ายประจำวันของเราไม่คล่องตัวและประสบปัญหาได้
3. ให้แบ่งบัญชีเงินส่วนตัวของเราออก อย่างน้อย 3 บัญชี ดังนี้
3.1 บัญชีที่เราจะใช้เรียกว่า "เงินสดสำรอง" ฟังดูแล้วเหมือนราชการจังเลยนะครับ แต่ผู้เขียนก็อยากให้มองเป็นอย่างนั้นแหละครับ บัญชีนี้เป็นบัญชีสำหรับออมเงินของตัวเรา ที่จะต้องออมเข้าทุกเดือน และจะต้องไม่เข้าไปแตะต้องเงินส่วนนี้แต่อย่างใด ถ้าเรา "ไม่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง" หรือ "ไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมจะใช้เงินส่วนนี้" เช่น ต้องใช้จ่ายกับเรื่องของครอบครัว เรื่องพ่อแม่ เรื่องภาระอื่น ๆ ที่จะต้องใช้เงินเป็นเครื่องมือในการแก้ไข เพื่อลดระดับของปัญหาหรือปัญหานั้นหายไปเลย หรือการเตรียมการเพื่อการซื้อบ้าน หรือแต่งงานในอนาคต
3.2 บัญชีที่เราเรียกว่า "เงินค่าใช้จ่ายประจำวัน" เป็นบัญชีที่เราจะนำมาใช้ในการบริหารการดำเนินชีวิตประจำวันของต้วเรา เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่ากินอยู่ ค่าสังคม หรืออะไรก็ตาม ให้เรามีบัญชีในลักษณะนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เราจะเป็นบัญชี "เงินเดือน" นั่นเองครับ
3.3 บัญชีที่เราเปิดไว้เพื่อ "เงินลงทุน" สำหรับคนเพิ่งเริ่มต้นทำงาน อายุงานที่ยังไม่ถึง 3 ปี อาจจะรู้สึกว่ามันไกลตัวเหลือเกิน แต่จริง ๆ แล้ว ผู้เขียนอยากให้น้องใหม่ทุกคน ได้เริ่มคิดนับแต่วันนี้เลยครับ ในเรื่องของการลงทุนนี้ ไม่ใช่ให้ไปเริ่มต้นประกอบธุรกิจกันนะครับ เพราะทุกคนต้องทำงานกินเงินเดือน (ที่เราทำอยู่ในปัจจบัน) ให้ดีที่สุด แต่หมายถึง การที่เราจะนำเงินจากส่วนนี้ไปเริ่มต้นลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ (เมื่อเราสะสมเงินได้เพียงพอ) เช่น การทำประกันชีวิตของตนเอง การลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาล ทั้งนี้ เพื่อให้เงินของเราทำงาน มากกว่าการออมไว้ในธนาคารเฉย ๆ ครับ
และถ้าหากเรา มีความพร้อมและมีความรู้มากเพียงพอ ก็อาจจะนำไปลงทุนใน "หุ้น" ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนทางการเงิน เติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกทางหนึ่ง
ซึ่งทั้งหมดที่ได้นำเสนอนี้ ผู้เขียนมองว่า เปรียบเหมือนกับเป็น "การกำหนดเป้าหมายและวิธีในการดำเนินโครงการของตัวเราเอง" จะใช้ชื่อใครงการอย่างไรก็ได้แล้วแต่ตัวเรา เช่น ในชื่อโครงการการออมเงินก็ได้
โดยเรามีเป้าหมายไว้ในใจว่า เมื่อสิ้นสุดในแต่ละปี เราควรจะมีเงินออมอยู่ในจำนวนเท่าไร มากขึ้นหรือลดลงจากปีก่อนหรือไม่ มีสาเหตุมาจากอะไร จำเป็นต้องปรับเป้าหมาย วิธีการ หรือกำหนดแผนการออมใหม่ ๆ ในเรื่องของจำนวนเงินออมแต่ละปีอย่างไร แม้กระทั่งว่าแผนกการออมของเรามีความเข้มงวดเกินไปหรือไม่ ....เพื่อนำมาปรับปรุงแนวทางการดำเนินของโครงการของตัวเราเอง
ปัจจัยสำคัญที่สุด ที่จะทำให้โครงการออมเงินของเราประสบความสำเร็จได้ คือ ความอดทน และความมีระเบียบวินัย ของตัวผู้ออมเอง เพราะหากตัวผู้ออมมีระเบียบวินัยในการออมที่ดี ก็ย่อมเป็นสะพานที่เชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายที่เราได้ตั้งไว้ กับความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง
ในส่วนของเนื้อหาที่นำเสนอในวันนั้น ก็มีประมาณเท่านี้ครับ ซึ่งจริง ๆ แล้วผู้เขียนยังมีประเด็นที่คิดว่าน่าจะนำเสนอเพิ่มเติมเข้าไปอีก เพื่อเป็นความรู้แก่น้องใหม่ทุกท่าน แต่เนื่องจากเวลามีค่อนข้างน้อย และผู้เข้าร่วมเสวนามีจำนวนถึง 4 ท่าน จึงต้องเฉลี่ยกันพูดออกไปเป็นส่วน ๆ
ไว้โอกาสคราวหน้า ผู้เขียนจะมานำเสนอแนวทางของตัวผู้เขียนเองเพิ่มเติมให้แก่ทุกท่านได้ทราบอีกครั้งหนึ่งครับ