วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ศึกษาภาวะผู้นำ จากผู้นำระดับโลก


สุรศักดิ์ อัครอารีสุข : มีประสบการณ์และคลุกคลีในงานด้านนโยบายและแผน และงานด้านการจัดการองค์กรมามากกว่า 10 ปี และเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการจัดทำโครงการแก่ผู้บริหารโครงการขององค์กร


หลายวันก่อน (มิ.ย.) ผู้เขียนได้รับคำแนะนำจากรุ่นน้องในที่ทำงานท่านหนึ่ง ให้ดูภาพยนตร์เรื่อง Invictus กำกับโดย Clint Eastwood เป็นภาพยนตร์ที่สร้างโดยคนอเมริกัน และนักแสดงหลักก็เป็นคนอเมริกันโดยส่วนใหญ่ (ภาพยนตร์ได้เข้าชิงออสการ์ 2010) เนื้อหาของตัวภาพยนตร์จะกล่าวถึงเรื่องราวอดีตผู้นำของประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ คือ "นายเนลสัน แมนเดลา" โดยที่ขณะนั้น เพิ่งจะได้รับอิสรภาพจากการถูกตัดสินจำคุกในเรือนจำที่ยาวนานกว่า 27 ปี ในตอนที่ได้รับอิสรภาพนั้น คุณแมนเดลามีอายุ 71 ปีเข้าไปแล้ว

ซึ่งนับว่าน่าทึ่งมากสำหรับคนในวัยนี้ ที่เมื่อออกมาจากคุกแล้วยังมีพลังใจอันเต็มเปี่ยม มีความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งดี ๆ ให้กับประเทศของตนเอง มีความพร้อมทางด้านจิตใจ ความสุขุมรอบคอบ มีความพร้อมที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศ สามารถวางรากฐานการบริหารประเทศได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องต่อสถานการณ์ของประเทศ ให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสืบต่อมา สถานการณ์ของประเทศ ณ ขณะนั้น ก็กำลังเข้าสู่ในช่วงเริ่มต้นของการบริหารประเทศยุคใหม่ ภายหลังที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนของประเทศให้เข้ามาเป็นผู้นำในตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศแอฟริกาใต้คนแรก

"เนลสัน แมนเดลา" เป็นอดีตประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้ เป็นผู้นำที่สามารถนำพาประเทศแอฟริกาใต้เข้าสู่ยุดใหม่ นั่นคือ เป็นยุคการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง ระหว่างคนพื้นเมืองของประเทศสองกลุ่ม คือ กลุ่มคนผิวขาวที่สืบเชื้อสายมาจากชาวดัตช์ เยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ (และมีภาษาของตนเอง คือ ภาษาแอฟริคานส์) กับกลุ่มชาวพื้นเมืองผิวดำ (ที่ก็มีภาษาของตนเองเช่นกัน คือ ภาษาธอร์ซา) ที่มีจำนวนประชากรมากกว่าคนผิวขาวมากนัก ท่านสามารถนำประเทศไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง โดยไม่ต้องเผชิญความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคนสองกลุ่มดังกล่าว ที่ในขณะนั้นมีแนวโน้มจะขยายกลายเป็นสงครามกลางเมือง ให้ผ่านไปได้อย่างสงบเรียบร้อยและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

จริง ๆ แล้ว ตัวผู้เขียนเองเคยได้ยินและรับทราบเรื่องราวของ "คุณแมนเดลา" มาเนิ่นนานมากแล้ว แต่กลับไม่เคยสนใจอ่านเรื่องราวของตัวท่านผู้นี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ ซักทีหนึ่ง ทั้งที่ตัวผู้เขียนเองก็เป็นคนชอบดูภาพยนตร์นานาชนิด และก็ชอบอ่านหนังสือที่ค่อนข้างหลากหลายพอสมควร โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวข้องในเชิงอัตชีวประวัติของท่านผู้รู้หรืออดีตผู้นำที่มีชื่อเสียงทั้งในลักษณะขององค์กร ระดับประเทศ หรือในระดับโลก ก็รู้สึกแปลกใจตัวเองอยู่เหมือนกันว่า เรื่องราวของคุณแมนเดลานี้หลุดเรดาห์ของตัวเราไปได้อย่างไร (เพราะเป็นอดีตผู้นำที่มีชื่อเสียงอย่างมาก)

เมื่อได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวแล้ว ก็ทำให้ตัวผู้เขียนเกิดความรู้สึกอยากรู้จักตัวอดีตผู้นำท่านนี้มากยิ่งขึ้น จึงได้ไปขวนขวายหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับท่านผู้นี้มาอ่านเพิ่มขึ้น รวมทั้งการค้นหาดูประวัติของท่านในอินเตอร์เน็ต ก็พอดีกับมีหนังสือใหม่เล่มหนึ่งที่เพิ่งวางขายไม่นาน (ผู้เขียนไปเจอในร้านชื่อดังพอดี) ชื่อหนังสือ "Mandela's Way" (เขียนโดย Richard Stengel และแปลโดยคุณธิดา ธัญญประเสริฐกุล กับคุณกานต์ ยืนยง) ก็ทำให้ผู้เขียนเข้าใจเรื่องราวของคุณแมนเดลาที่ "กว้างขึ้นและลึกยิ่งขึ้น"

เพราะลำพังเพียงเราดูจากภาพยนตร์ จะพบว่า มีข้อจำกัดในการสื่อสารถึงเนื้อหาของตัวผู้สร้างเอง ที่จะทำให้ผู้ดูได้เข้าใจอย่างละเอียดได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาและต้นทุนของผู้สร้างอย่างมาก ซึ่งก็นับเป็นการยากที่เราจะเข้าใจถึงที่มาและเหตุผลในการ "ตัดสินใจและลงมือกระทำ" ของตัวละครที่ปรากฎในภาพยนตร์ได้อย่างกระจ่างชัด เมื่อผู้เขียนได้อ่านแล้ว ก็ยิ่งทำให้ผู้เขียนเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำประเด็นสำคัญจากหนังสือเล่มนี้ เพื่อเชิญชวนให้ทุกท่านได้ไปลองหาอ่านกันดู (รวมทั้งภาพยนตร์ครับ) ในประเด็นเรื่อง "คุณลักษณะที่สำคัญของผู้นำ" ที่ปรากฎในทั้งหนังสือและภาพยนตร์ของตัวอดีตประธานาธิบดีท่านนี้ รวมทั้ง "คำคม" และ "เรื่องราว" ที่ได้มีการยกตัวอย่างประกอบซึ่งภาพยนตร์และหนังสือได้นำเสนอให้เราได้เห็นภาพ มานำเสนอให้ผู้สนใจได้นำไปเป็นแนวทางในการทำงานและการดำเนินชีวิตของตัวเราได้เป็นอย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียว

เนื้อหาที่ตัวผู้เขียนได้อ่านจากหนังสือดังกล่าว จะประกอบด้วย 15 บทเรียน ที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ (โดย ริชาร์ด สเตงเกล) ได้จัดทำขึ้น โดยผ่านการรวบรวมข้อมูลที่ได้รับจากการสัมภาษณ์จากอดีตผู้นำท่านนี้ พร้อมทั้งได้รับประสบการณ์ในการสัมผัสตัวตนโดยตรงในช่วงที่ "มิสเตอร์แมนเดล่า" กำลังจะขึ้นเป็นประธานาธิบดี เป็นระยะเวลาเกือบสามปีทีเดียว ซึ่งมีประเด็นในแง่ของคุณลักษณะของความเป็นผู้นำที่น่าสนใจหลายประเด็น ที่ตัวท่านได้แสดงให้เราได้เห็นมาให้เราได้ลองศึกษากันดูครับ

คุณลักษณะสำคัญประการแรก ที่อดีตผู้นำท่านนี้ได้แสดงให้เราได้เห็นก็คือ ในฐานะผู้นำจะต้อง "มองภาพรวม" ของงานที่เราในฐานะผู้นำ จะต้องรับผิดชอบทั้งหมดให้ออก และยังต้องมีความสามารถที่จะสื่อสารประเด็นของภาพรวมเหล่านั้น ไปยังผู้ใกล้ชิดกับตัวเราให้เข้าใจได้อย่างชัดเจน

โดยตัวของแมนเดลานั้น มักจะได้รับคำวิจารณ์เกี่ยวกับการกล่าวสุนทรพจน์ของตัวเขาเสมอว่า "น่าเบื่อมาก" ก็เนื่องมาจากที่ว่า คำพูดสุนทรพจน์ต่าง ๆ ของท่านนั้น มิใช่คำคม แต่เป็นการพยายามสื่อให้ครบถ้วน มีเหตุผลที่อธิบายได้ โดยที่ท่านคิดว่า "การทำตัวทึ่ม แต่ดูน่าเชื่อถือ ย่อมดีกว่าทำตัวบุ่มบ่ามและไม่ชัดเจน" แมนเดลา เชื่อว่า คนส่วนใหญ่จะสามารถทนต่อความเชยเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อแลกกับความน่าเชื่อถือ ความถูกต้อง และความมีสาระในสิ่งที่ได้สื่อสารออกไป

ลักษณะการแสดงออกเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากความมีวุฒิภาวะที่ได้รับจาก "ครู" ที่ดีที่สุด ซึ่งก็คือ "คุก" นั่นเอง เป็นเหตุให้แมนเดลาเป็นคนที่เยือกเย็น การตัดสินใจในทางใด ๆ ก็ตาม จะต้องผ่านการพิจารณาแล้วจากทุกทางเลือกที่เป็นไปได้ ซึ่งจะทำให้เรามองเห็น "การมองภาพรวม" ของงานที่เขากำลังจะต้องตัดสินใจหรือรับผิดชอบอยู่ได้อย่างครบถ้วนเท่าที่จะเป็นไปได้

เพราะความผิดพลาดส่วนใหญ่ในชีวิตของแมนเดลา คือ "การกระทำอย่างรีบร้อน มากกว่าการทำอะไรที่ช้าเกินไป"

ซึ่งถ้าเราได้ดูจากภาพยนตร์ (รวมทั้งหนังสือ) จะมีอยู่ฉากหนึ่งที่ตัวแมนเดลาเอง ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อฝูงชนจำนวนมาก และได้ขอร้องให้ทุกคน "จงลืมอดีตเสีย" (ให้ทุกคนจงทิ้งอาวุธ หยุดการต่อสู้หรือการก่อจราจล ซึ่งความหมายโดยนัย คือ จะไม่มีการเอาผิดโดยรัฐ และหันมาร่วมกันสร้างชาติผ่านการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันด้วยระบอบประชาธิปไตย) หรือคำกล่าวที่ว่า "การปรองดองเริ่มต้น ณ ตรงจุดนี้" (การให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยร่วมกันระหว่างกลุ่มคนขาวที่ใช้ภาษา "แอฟริคานส์" และกลุ่มคนดำที่ใช้ภาษา "ธอร์ซาห์") นั่นก็เพราะว่า "เป้าหมาย" ที่เป็นภาพรวมซึ่งอยู่ในใจของแมนเดลลา ณ ขณะนั้น ก็คือ "การอยู่ร่วมกัน" อย่างสันติสุข เพราะทุกฝ่ายต่างมีข้อบกพร่อง แต่เราต้องอยู่ร่วมกันและไม่อาจปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ได้ มิใช่เรื่องของการมากำหนดแนวทางแพ้ชนะหรือการตอบโต้ทางการเมืองแต่อย่างใด

และที่สำคัญที่สุดก็คือ การไม่ไปทำลายในสิ่งรักหรือสิ่งหวงแหนของคนกล่มเดิมที่เราได้อำนาจมา เช่น กีฬารักบี้ (ในภาพยนตร์ กลุ่มคนผิวดำพยายามที่จะยุบสมาคมรักบี้ทิ้ง-โดยแมนเดลาให้แนวทางที่ว่า "ถ้าเราทำลายสิ่งที่เขารัก เราจะเสียพวกเขาไป") และแมนเดลา ก็ใช้จุดนี้เป็นตัวเชื่อมโยงไปสู่การสร้างความ "รู้รักสามัคคีร่วมกันในการสร้างชาติ" ของคนในชาติทั้งสองกลุ่ม

แมนเดลา จะคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ด้วย "มุมมองทางประวัติศาสตร์" เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจและสื่อสารให้กับทุกคนได้รับทราบถึงแนวคิดของตัวท่าน ซึ่งโดยธรรมชาติ มุมมองทางประวัติศาสตร์ คือ เรื่องราวที่ผ่านเวลาอันยาวไกล ท่านทราบดีว่า "การสร้างชาติใหม่" จำเป็นต้องลงทุนลงแรงอย่างมาก หากทุกคนต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหากทำเพียงลำพัง (กลุ่มคนดำ /กลุ่มคนขาว) ก็ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ได้เลย

หรือการปกป้องจากความพยายามของกลุ่มคนผิวดำ (ภายหลังที่ท่านเป็นประธานาธิบดี) ที่พยายามจะเข้าไปปรับหรือยึดโครงสร้างการบริหารของราชการเดิม ที่กลุ่มคนขาวครองอำนาจอยู่ เช่น ตำรวจ กองทัพ ซึ่งการก้าวเข้าไปเปลี่ยนแปลงแบบกระทันหันในลักษณะนั้น อาจทำให้ประเทศก้าวไปสู่ความวุ่นวายที่ไม่จบสิ้นและไม่มีทางออก แม้คนใกล้ชิดจะเตือนว่าการที่ท่านทำเช่นนี้ (ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางราชการเดิมเพื่อเอาใจกลุ่มคนดำ) ถือเป็นความเสี่ยงทางการเมืองอย่างมาก แต่แมนเดลลาได้กล่าวตอบว่า "วันที่เรากลัวความเสี่ยง คือ วันที่เราไม่เหมาะจะเป็นผู้นำ" เป็นคำกล่าวของ ปธน.แมนเดลา

ซึ่งการที่ผู้นำท่านหนึ่งจะสามารถกล่าวอมตะวาจาในลักษณะเช่นนี้ออกมาได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่สามารถมองถึงผลได้ผลเสีย (ซึ่งก็คือ "ภาพรวม" นั่นเอง) ได้พิจารณาในทุก ๆ องค์ประกอบ ปัจจัยแวดล้อมที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจที่เป็นไปได้ มาแล้วอย่างถ้วนถี่

คุณลักษณะประการที่สอง คือ ผู้นำต้องมีความสามารถและความพร้อมที่จะ "เปลี่ยนแปลง" กล่าวคือ เมื่อสภาพการณ์ต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไป ปัจจัยต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลง ผู้นำในทุกระดับหรือทุกองค์กร ก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเอง โดยเฉพาะในเรื่องของมุมมองและความคิดของผู้นำเหล่านั้น เพราะหากเราไม่คิดที่จะปรับเปลี่ยน "เราก็ย่อมดับสูญ" ไปจากสังคมในอนาคตที่กำลังจะมาถึง

ยกตัวอย่างเช่น องค์กรที่เรากำลังบริหารอยู่ อาจจะกลายเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่เทอะทะ ไม่คล่องตัว มีแนวทางการบริหารจัดการภายในที่โบราณ (เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน-ทั้งที่เมื่อ 5 ปีที่แล้วยังทันสมัยอยู่เลย) มีวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอุปสรรคต่อการก้าวไปข้างหน้า และเป็นตัวที่ส่งผลต่อองค์กรให้หายไปจากสารบบเพราะการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวให้เข้ากับความลื่นไหลที่รวดเร็วของโลกสมัยใหม่ได้ทัน (ถ้าใครเคยอ่านเรื่องราวของ IBM ก็จะพบว่า "วัฒนธรรมองค์กร" คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างยากลำบากที่จะให้สอดคล้องกับโลกการแข่งขันธุรกิจการผลิตคอมพิวเตอร์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภายหลังต้องขายธุรกิจ Notebook, Desktop (PC) Monitor etc. ให้กับ Lenovo ในกาลต่อมา-หนังสือชื่อ "เมื่อช้างเต้นระบำ"-หากท่านใดสนใจหาอ่านได้)

ในระหว่างที่แมนเดลา ต้องถูกจำคุกในเรือนจำ นับแต่การถูกพิพากษาในคดี "ริโวเนีย" มานานแล้วกว่า 22 ปี (1985) แมนเดลาได้รับการแยกขังออกจากกลุ่มเพื่อนที่ถูกคดีการเมืองร่วมกันอีกสามท่าน สภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้แมนเดลา มีเวลาคิดคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของรัฐบาล ว่าทำเช่นนี้ไปเพื่ออะไร ซึ่งทำให้ท่านได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน และทำให้ท่านสรุปได้ว่า การถูกแยกขังเช่นนี้ ทำให้เปิดโอกาสท่านในฐานะ "ผู้นำ" ของพรรคเอเอ็นซี ได้ใคร่ครวญว่า ตนสามารถที่จะเริ่มการเจรจากับรัฐบาลได้ (เพราะหากยังอยู่กับเพื่อนร่วมขัง ก็อาจจะต้องหามติร่วมกันก่อน ซึ่งนับเป็นเรื่องยากมาก ไม่ต้องพูดถึงการหามติจากพรรค) นับเป็นครั้งที่สองที่รัฐบาลแอฟริการใต้ในขณะนั้น ได้เปิดโอกาสที่จะนำไปสู่การเจรจาของทั้งสองฝ่ายได้ (ก่อนหน้านี้ ปธน.โบทา ได้เสนอทางออกด้วยการเจรจากับ "แมนเดลา" มาครั้งหนึ่งแล้ว)

การที่ท่านคิดเช่นนี้ แม้ภายในจะรู้สึกกังวลว่าอาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทรยศต่อแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธแบบเดิมจากคนในพรรค แต่ท่านก็ได้ตระหนักแล้วว่า "โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว" เป็นคำกล่าวของท่านและท่านก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปกับโลก ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ ณ ปัจจุบัน ก็คือ ตัวแมนเดลลาได้พิจารณาแล้วว่าแนวทางการต่อสู้แบบเดิมด้วยอาวุธ ไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ (หรือไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน) ดังนั้น "การเจรจา" จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แม้ภายหลังท่านได้ชี้แจงให้เพื่อน ๆ ได้รับทราบ รวมถึงพรรคเอเอ็นซีด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย (ณ ขณะนั้น)

และจากจุดเริ่มต้นของ "การเปลี่ยนแปลง" แนวคิดในเรืองของการต่อสู้ของแมนเดลาในครั้งนั้น ก็ได้วิวัฒนาการและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศแอฟริกาใต้โดยรวม ทำให้ประเทศสามารถก้าวไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งได้สำเร็จ

คุณลักษณะประการที่สาม คือ ผู้นำ "ต้องเป็นนักฟังที่ดี" คุณลักษณะเช่นนี้ ในปัจจุบันถึอเป็นคุณลักษณะที่สำคัญมาก เพราะผู้นำในทุกองค์กรในปัจจุบัน จำเป็นที่จะต้องเข้าไปทำงานในลักษณะของการ "ทำงานร่วมกัน" กับบุคลากรมากกว่าการ "สั่งการ" เพราะในขั้นตอนของการปฏิบัติจริงแล้วย่อมไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องของความถูกหรือผิด ดำหรือขาว แต่เป็นเรื่องของความพยายามที่ผู้นำจะต้องหาแนวทางที่ประนีประนอมที่พอจะเอาไปปฏิบัติได้ ซึ่งการจะทำในลักษณะเช่นนี้ได้ก็ต้องมีความสามารถในการฟังที่ดี และมีใจที่เปิดกว้างอย่างยิ่งทีเดียว

ผู้เขียนเคยอ่านงานเขียนของ ดร.ชวลิต สรวารี (คนกับองค์กร) ท่านได้กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้นำไว้ว่า "...คุณสมบัติที่สำคัญที่ผู้นำจะต้องมีอย่างหนึ่งก็คือ ทักษะในการฟัง โดยที่การฟังนั้น นอกจากจะเป็นการจับใจความของผู้พูดแล้ว ยังจะสามารถวิเคราะห์ถึงความรู้สึกนึกคิดในเบื้องลึก สิ่งที่ผู้พูดกำลังมีความกังวลอยู่ ตลอดจนพฤติกรรมที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากเรื่องราวต่าง ๆ นั้น โดยผู้นำจะต้องฟังมากกว่าพูด เพื่อที่จะสามารถเอาใจเขามาใส่ใจเราได้มากที่สุดที่เราจะทำได้..."

และจากเนื้อหาในหนังสือของ ริชาร์ด สติงเกล ที่กล่าวถึงบุคลิกในการรับฟังของแมนเดลาไว้ดังนี้ "...ผมไม่เคยรู้จักใครที่จะนิ่งได้เท่าเนลสัน แมนเดลาเลย เมื่อท่านนั่งหรือกำลังฟังสิ่งใด ท่านจะไม่เคาะนิ้ว กระดิกเท้า หรือยุกยิกไปมา...เมื่อท่านรับฟังคุณ จะเหมือนกับคุณกำลังมองไปยังภาพนิ่งของท่าน โดยแทบไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าท่านกำลังหายใจอยู่หรือไม่"

หรืออีกตอนหนึ่งเมื่อแมนเดลากับที่ปรึกษากำลังนั่งล้อมวงคุยกัน "...ขณะที่คนเหล่านี้ (ที่ปรึกษา) กำลังถกเถียงกันอย่างออกรส แมนเดลานั่งตัวตรง แทบจะไม่ไหวติง ตั้งใจฟังอย่างจดจ่อ โดยไม่แสดงอาการอะไรเลย...จนกระทั่งถึงตอนท้ายของการประชุมเมื่อผู้เข้าร่วมต่างเตรียมตัวกลับ แมนเดลาจึงเอ่ยปากพูด สรุปมุมมองของทุกคน โดยมิได้แสดงมุมมองของตนเอง...แมนเดลาทราบว่าวิธีลดความขัดแย้งที่แน่นอนที่สุด คือ การรับฟังมุมมองตรงข้ามอย่างอดทน" ซึ่งทั้งหมดนี้ น่าจะทำให้เราเข้าใจถึงพลังและประสิทธิภาพของความสามารถนี้ที่จะต้องมีอยู่ในตัวผู้นำ

คุณลักษณะประการที่สี่ ก็คือ ผู้นำต้อง "รู้จักวางมือ" โดยเฉพาะเมื่อผู้นำท่านนั้น ได้รู้ว่าเวลาของตน (การก้าวลงจากอำนาจ) นั้นมาถึงแล้ว ก็ต้องพร้อมที่จะลงจากอำนาจโดยไม่ ซึ่งปณิธานอันแน่วแน่เช่นนี้ของประธานาธิบดีแมนเดลา ได้แสดงให้เห็นก็เพื่อให้เป็นแบบอย่างตลอดไปว่า ประเทศในทวีปแอฟริกาก็สามารถที่จะเป็น "ต้นแบบ" ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกับชาติก้าวหน้าอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน

เคยมีคำกล่าวที่ว่า "การก้าวขึ้นสู่อำนาจเป็นเรื่องที่ยากยิ่งนัก การรักษาอำนาจที่ได้มาเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า แต่การลงจากอำนาจเมื่อรู้ว่าเวลาอันควรมาถึงแล้ว นับเป็นเรื่องยากที่สุด" ซึ่ง ณ ขณะนั้น แมนเดลา ได้ประกาศสิ่งแรกเมื่อตอนที่ตนเองเข้ารับตำแหน่งสาบานตนเป็นประธานาธิบดีว่า "คนอายุเกินแปดสิบปีไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง" หมายความว่า เมื่อการดำรงตำแหน่งสมัยแรกสิ้นสุดลง แมนเดลาจะมีอายุเกินกว่า 80 ปี พร้อมกันนั้นแมนเดลาก็ได้ประกาศต่อสาธารณชนว่า ตนเองจะไม่ดำรงตำแหน่งสมัยที่สองอย่างเด็ดขาด และท่านก็ทำตามที่ได้พูดไว้ทุกประการ

การที่ผู้นำท่านหนึ่งสามารถกล่าวออกมาได้เช่นนี้ ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงปณิธานอันสูงส่งที่จะเป็นแบบอย่างต่อไปของคนทั้งประเทศ และยังสามารถปฏิบัติได้ตามที่ตนพูดไว้ได้ทุกประการนั้น นับได้ว่าเป็นรัฐบุรุษทีเดียว กล่าวคือ ไม่เพียงแสดงให้เห็นว่าชาวแอฟริกาสามารถปกครองตนเองได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นทวีปแห่งประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นแบบอย่างให้ชาติอื่นได้นำไปศึกษาและเรียนรู้ เป็นดั่งเงา "จอร์จ วอชิงตัน" แห่งทวีปแอฟริกา ที่ได้วางรากฐานในการดำรงตำแหน่ง ปธน.แห่งอเมริกา ไว้ที่จำนวนสองสมัย

คุณลักษณะทั้งหมดนี้ ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ผู้เขียนได้ดึงมาจากหนังสือ "Mandela's Way" ซึ่งผู้เขียนอยากแนะนำให้ผู้ที่สนใจทุกท่าน ได้ลองไปศึกษาเพิ่มเติมกันอีกส่วนหนึ่ง (ในหนังสือดังกล่าว) ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านอย่างมากทีเดียว เพราะประวัติศาสตร์ที่ปรากฎบนตัวของอดีตผู้นำท่านนี้ แทบจะไม่แตกต่างจาก "ตำราการบริหารจัดการองค์กร" ที่แสนจะทันสมัยที่วางขายในที่ต่าง ๆ ของบรรดา Guru ทีเรารู้จักกันอย่างดีเลยทีเดียว

ในโอกาสหน้า  จะมาแนะนำหนังสือดี ๆ ใหม่เพิ่มเติมครับ