วันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

สรุปบางประเด็น จากบทความ "ร้อยคน ร้อยโค้ช (MG 100)" โดย ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ นสพ.ประชาชาติ 17012018

     จากบทความ "โครงการ ร้อยคน ร้อยโค้ช (MG 100)" ของ ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ   ผมดึงบางประเด็นที่น่าสนใจ  มาเก็บไว้  เพื่อไว้ใช้ในการศึกษาของตนเอง ต่อไป  ดังนี้ครับ
     โครงการริเริ่มขึ้น โดย "ดร.มาร์แชล โกลด์สมิท" กูรูด้านการโค้ชและการพัฒนาภาวะผู้นำระดับโลก  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ คือ ต้องการคืนประโยชน์ให้กับคนรุ่นหลัง (pay it forward)  ที่ต้องการอุทิศความรู้ และประสบการณ์ในการพัฒนาภาวะผู้นำ องค์ความรู้ต่าง ๆ และการโค้ชผู้บริหารระดับสูงให้กับกลุ่มโค้ชหนึ่งร้อยคน
     การประชุมครั้งนี้  จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ธนาคารโลก (World Bank)  กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.   มีประเด็นจากผู้บริหารและโค้ชที่มีชื่อเสียง ดังนี้
     ดร.จิม ยอง คิม  ประธานธนาคารโลก  ย้ำถึงเป้าหมายของธนาคารโลกในการขจัดความยากจน และการส่งเสริมการศึกษา โดยฉายภาพยนตร์ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เห็นถึง ความเป็นมาของการต่อสู้เพื่อผู้ที่ขาดโอกาสในการได้รับการรักษาเยียวยาด้วยการแพทย์ที่ทันสมัย การสร้างศูนย์และระบบอนามัยให้ชุมชนดูแลตนเองได้ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการนำความช่วยเหลือต่าง ๆ ต้องใช้ภาวะผู้นำสูงมาก  เนื่องจากต้องโน้มน้าวคนหลากหลายกลุ่มให้อนุมัติเงินทุน และเสียงสนับสนุน  พร้อมทั้งได้ฝากให้โค้ชทุกคน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาวะผู้นำ  เพราะการขาดภาวะผู้นำ จะนำไปสู่ปัญหาอื่นมากมายในโลกนี้
     แซนดี้ อ็อค อดีต HRO (Chief Human Resource Officer) ของ Unilever (London)  บรรยายเรื่อง Linking Talent to Value  ใช้กรณีศึกษาองค์กรหนึ่ง ชี้ให้เห็นบทบาทหน้าที่ของ CEO ที่ดี และ CEO ที่สามารถสร้างคุณค่าให้องค์กรได้อย่างรวดเร็ว   โดย "แซนดี้" ได้กล่าวว่า จากกรณีศึกษาของ CEO ที่มีชัยชนะมักมีกระบวนทัศน์ (mindset) คือ bigger, fewer, start smaller and move faster หมายถึง "สร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่กว่าได้ โฟกัสในเรื่องสำคัญที่สร้างคุณค่าให้องค์กร และเริ่มลงมือทำอย่างรวดเร็ว  เขาพบว่า CEO มักเผชิญปัญหาในการจัดวางคนเก่ง และคนที่เหมาะสมในตำแหน่งผู้นำทีมหลักที่มีความสำคัญมากต่อการสร้างคุณค่าที่องค์กรคาดหวัง  เขาเน้นย้ำว่า โค้ชผู้บริหารจำเป็นต้องเข้าใจว่า อะไรคือคุณค่าที่ CEO ต้องสร้างให้องค์กรและธุรกิจ ไม่ใช่มุ่งแค่โค้ชด้านพฤติกรรม
     ร็อบ เนล CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Singularity University  สถาบ้นที่เน้นเตรียมความพร้อมให้ผู้นำในการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ทันกับเทคโนโลยี  เพื่อสร้างความได้เปรียบและการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในหัวข้อ "Leading in the age of disruption"  มีมุมมองว่า หากสังเกตเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ การปรับตัวของเราในปัจจุบันเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก  "ร็อบ"  ได้ยกตัวอย่างเรื่องเครื่องดื่ม Red Bull คู่แข่งในอนาคตอาจไม่ได้มาจากธุรกิจเดียวกัน แต่อาจมาจากรถยนต์ไร้คนขับ  เนื่องจากในต่างประเทศ Red Bull ขายดีในปั๊มน้ำมัน  "ร็อบ" เชื่อว่า เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดจะทำให้ชีวิตของมนุษย์เราในอนาคตมีคุณภาพ และสะดวกสบายมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ การศึกษา สุขภาพ ฯลฯ  โดยร็อบได้สรุปแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรในด้านต่อไปนี้
          -  ด้านยุทธวิธี (strategy)  เราอยู่ในธุรกิจอะไรในปัจจุบัน  ในอีก 5 ปีข้างหน้า และในอีก 20 ปีข้างหน้า
          -  ด้านองค์กร (organization)  วัฒนธรรมองค์กร  บุคลากร  และโครงสร้างองค์กร
          -  ด้านภาวะผู้นำ (leadership) ทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นใน VUCA World
          -  ด้านการจัดการ (execution)  การระดมทุน  การสร้างความคิดใหม่ ๆ การทดลอง  และการค้า
     ทั้งน้  "ร็อบ"  ได้แนะนำทักษะที่คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมี  เพื่อความอยู่รอดในอนาคต มี 7 ข้อ  ได้แก่
          1)  การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและการปรับตัว (continuous learning and adaptability)
          2)  ความสนใจอยากรู้อยากเห็น (curiosity)
          3)  การประสานความร่วมมือ (collaboration)
          4)  การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking)
          5)  ความกล้าหาญและภาวะผู้นำ (courage/leadership)
          6)  ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (compassion)
          7)  ความมุ่งมั่น ความเพียรพยายาม ความอึด (commitment/grit)

สุรศักดิ์ อัครอารีสุข : คัดลอก