วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2562

บูรณาการงานทรัพยากรมนุษย์

       หนังสือ  "บูรณาการงานทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มสมรรถนะองค์การ หรือ Integrated HR, Strengthening Corporate Competency"  เขียนโดย สุรเชษฐ หฤษฎ์ภูมิ. (2556) 
       เป็นหนึ่งในหนังสือด้าน HR  หลาย ๆ เล่ม  ที่ผมค่อนข้างชอบมากเลยทีเดียว
       ตัวหนังสือนำเสนอให้เห็นถึงภาพรวมของงานด้านทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างน่าสนใจ 
       สำหรับใช้เป็นแนวทางแก่นักบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถนำมาปรับใช้งานได้เป็นอย่างดี
       หากเรามองในเรื่องแนวทางการพัฒนา  สไตล์การบริหารเฉพาะของตัวเรา  จากหนังสือ 89 กลยุทธ์ ที่องค์กรระดับโลกใช้สร้างองค์กรและบริหารคน
       หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า The Little Book of BIG Management Theories ซึ่งแต่งโดย เจมส์ แมคกราท (James Mcgrath) และ บ็อบ เบทส์ (Bob Bates) 
       ที่กล่าวว่า  สไตล์การบริหารเฉพาะของตัวเรา  เราต้องค่อย ๆ สะสมจาก 3 ปัจจัย....
       คือ ...ศึกษาจากทฤษฎีบางส่วน   ดูความสำเร็จของนักบริหารที่เราเห็นเป็นต้นแบบ   และได้รับประสบการณ์ตรงจากการบริหารของตัวเราเอง..  
       แนวทางหรือที่มาของหนังสือเล่มนี้  ก็ถือได้ว่ามีรูปแบบที่ไม่แตกต่างกันนัก
       เริ่มต้นจาก  ตัวผู้เขียนเองมีความต้องการเพิ่มพูนเทคนิคการบริหารด้านทรัพยากรมนุษย์ใหม่อย่างต่อเนื่อง   
       จึงได้ค้นคว้าแนวคิดใหม่ ๆ ในงานด้านนี้อย่างสม่ำเสมอ
       ผ่านการปะติดปะต่อความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ที่มักแยกส่วนออกจากกัน
       นำมาผสมผสานกับประสบการณ์ความรู้ที่ได้รับจากการทำงานด้านการจัดฝึกอบรมของตนเอง 
       รวมถึงการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้รู้อีกจำนวนมาก
       จนสามารถกลั่นกรองและถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือได้อย่างน่าอ่านและน่าติดตาม
       ซึ่งจากประสบการณ์ตรงของตัวผู้เขียนเอง  
       พบว่า  องค์การส่วนใหญ่ถึงจะให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 
       แต่ผลงานของหน่วยงานทรัพยากรมนุษย์  ก็มักจะ ไม่โดดเด่นมากนัก  ในสายตาของผู้บริหารระดับสูง
       ถึงแม้ผู้บริหารที่ดูแลงานด้านทรัพยากรมนุษย์  จะได้รับโอกาสเข้าร่วมประชุมในระดับบอร์ดบริหารขององค์การอย่างสม่ำเสมอ
       หรือผู้รับผิดชอบในงานทรัพยากรมนุษย์  มีความพยายามในการการนำ  เครื่องมือหรือวิทยาการสมัยใหม่  เข้ามาสร้างคุณประโยชน์ให้กับองค์การ 
       ไปจนถึง  การสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน  ให้แก่บุคลากรขององค์การอย่างต่อเนื่องอยู่ก็ตาม 
       ผู้เขียนมองว่าจากผลงานดังกล่าวก็อาจจะยังอยู่เพียงแค่ในระดับ  ที่พอจะทำให้ผู้บริหารระดับสูง เพียงยอมรับได้  เท่านั้น
       แล้วงานด้านทรัพยากรมนุษย์  จะสร้างคุณค่าและความโดดเด่น  ในองค์การให้กับตนเองได้อย่างไร
       ประเด็นนี้  ผู้เขียนมองว่าคุณค่าและความโดดเด่นดังกล่าวไม่ได้ขึ้นอยู่กับ  เครื่องมือหรือวิทยาการสมัยใหม่  แต่เพียงอย่างเดียว
       เนื่องจากผู้เขียนมองว่าเครื่องมือเหล่านี้  เป็นการใช้เพื่อเพิ่มประสิทธภาพการทำงานขององค์การ  ให้มากขึ้นเท่านั้น
       แต่อยู่ที่  การสร้างและปรับเปลี่ยนทุกระบบอย่างรอบด้าน  ให้สอดรับกันแบบบูรณาการ
       โดยมี  คน  เป็นศูนย์กลาง 
       และให้ใช้  ระบบทรัพยากรมนุษย์  เป็นตัวเชื่อมโยงระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
       ผู้เขียนเน้นย้ำว่า  ก่อนที่จะเชื่อมโยงระบบทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดบูรณาการเข้าด้วยกันนั้น 
       นักทรัพยากรมนุษย์  ต้องศึกษาทำความเข้าใจต่อรากฐานภารกิจขององค์การ  จนเข้าใจอย่างดี  
       แล้วจึงนำมาใช้เป็นแนวทางวิเคราะห์เพื่อวางแผนดำเนินการเป็นส่วน ๆ
       เนื้อหาของหนังสือมุ่งเน้นไปที่การบูรณาการ 3 ส่วนงาน  คือ  การบริหารโครงสร้างเงินเดือน  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  และงานด้านพนักงานสัมพันธ์  โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 6 บท
       ตลอดทั้ง 6 บท  ผู้เขียนได้นำ  กรอบหรือเฟรมเวิร์ก  Urich Model ของ Dave Urich  มาใช้อธิบายร่วมในลักษณะสอดแทรกไปตามแต่ละบท  
       เป็นการนำ  ทฤษฎีด้านทรัพยากรมนุษย์  มาประยุกต์ใช้กับการทำงานของผู้เขียนเอง 
       โดยนำเสนอเนื้อหาได้อย่างกระชับและมีทิศทาง   
       ไม่ว่าในเรื่องของการเสริมบทบาทนักทรัพยากรมนุษย์ในฐานะนักยุทธศาสตร์ด้านคนและการจัดทำแผนปฏิบัติการ  
       หรือการเชื่อมโยงเครื่องมือและข้อมูลทรัพยากรมนุษย์เข้าด้วยกัน 
       เพื่อเสริมประสิทธิภาพด้านการจัดการ  และประสิทธิผลในการดำเนินงานที่เกี่ยวกับคน  
       ให้สอดคล้องกับทิศทางขององค์การแบบบูรณาการ
       ไปจนถึง  แนวทางการพัฒนาศักยภาพของคนในองค์การให้สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจขององค์การ  
       รวมถึงการค้นหาสัญญาณที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงขององค์การ 
       พร้อมทั้งนำเสนอเครื่องมือที่ใช้ในการจับสัญญาณเพื่อป้องกันและแก้ไข
       โดยล้อไปกับระบบการดำเนินงานทรัพยากรมนุษย์ได้ครบทั้ง 4 บทบาท   ตามแนวคิดของ Dave Urich  ซึ่งประกอบด้วย 
       การเป็น Strategic Partner นั่นคือ นักทรัพยากรมนุษย์ต้องทำความเข้าใจกับธุรกิจขององค์การ  ทั้งในเรื่องของวิสัยทัศน์  พันธกิจ  ค่านิยมร่วม  และกลยุทธ์ธุรกิจ 
       ตลอดจนมีส่วนร่วมในการกำหนดจุดแข็ง จุดอ่อน อุปสรรค และโอกาส  เพื่อกำหนดแผนกลยุทธ์ธุรกิจในระยะสั้น และระยะยาว
       การเป็น Change Agent  หรือบทบาทของผู้นำการเปลี่ยนแปลง  ให้สอดรับกับการเคลื่อนตัวของกระแสสังคม   เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ที่คนส่วนใหญ่มักไม่ยอมปรับตัว 
       นักบริหารทรัพยกรมนุษย์  จึงต้องมีศาสตร์และศิลป์  ที่จะชี้ให้เห็นผลดี-ผลเสีย โอกาส  ที่จะชูธงเดินนำหน้าการเปลี่ยนแปลง
       การเป็น Employee Champion  นั่นคือ นักทรัพยากรมนุษย์ต้องมีความรู้ ทักษะ ความสามารถในวิชาชีพของตนเอง  เป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมบุคลากรทุกส่วนงาน   
       โดยเนื้อหายังเป็นการบูรณาการระหว่างงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management) กับงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development)  เพื่อให้เกิดแรงสนับสนุนต่อกัน
       การเป็น Administrative Expert  คือ  การเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการบริหารจัดการงานประจำของงานทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดประสิทธิผล 
       เป็นการสร้างฐานอนาคตขององค์การให้เข้มแข็งที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก  ผ่านการสนับสนุนการติดตั้งเครื่องมือ  ระบบการบริหาร  และระบบปฏิบัติการใด ๆ ให้องค์การ
       ผู้เขียนได้กล่าวสรุปในตอนท้าย  ถึงความพยายามของหนังสือเล่มนี้  ที่มีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงระบบงานทรัพยากรมนุษย์ให้ดำเนินงานเป็นเนื้อเดียวกัน
       เสมือนกับการเต้นรำกันอย่างสนุกและต่อเนื่อง
       หากในงานเต้นรำที่ทุกคนกำลังเต้นรำกันอย่างสนุกมีการเปิดเพลง-ปิดเพลงสลับกันไป  
       คนเต้นก็จะรู้สึกขาดตอนและไม่สนุก
       งานทรัพยากรมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน  ควรทำงานให้มีจังหวะและท่วงทำนองที่สอดคล้องกัน
       ถึงแม้จะแบ่งแยกหน้าที่งาน  แต่ต้องไม่แบ่งแยกความรับผิดชอบ
       เป็นการแสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ผสมผสานส่งลูก-รับลูกกันอย่างมีประสิทธิภาพ 
       และเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์การทำงานอย่างมืออาชีพของงานด้านทรัพยากรมนุษย์ไปยังทุกหน่วยงานในองค์การให้ได้เห็นอย่างชัดเจน
       ถือเป็นหนังสือที่น่าอ่านมากเล่มหนึ่งสำหรับคนทำงานด้าน HR และทุก ๆ ท่านครับ
สุรศักดิ์  อัครอารีสุข
http://surasak-akkaraareesuk.blogspot.com/2009/05/2552.html