วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

ขยายฐานความรู้ของตัวเราให้กว้างขึ้น ด้วยการอ่านหนังสือให้หลากหลาย

สุรศักดิ์ อัครอารีสุข : surasak_cpb@yahoo.com

ผู้เขียนมีประสบการณ์และคลุกคลีในงาน ด้านนโยบายและแผนขององค์กร และงานด้านการจัดการองค์กรมามากกว่า 10 ปี และเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการจัดทำโครงการแก่ผู้บริหารโครงการขององค์กร

มีอยู่สองสิ่งในชีวิต ที่เรายิ่งลงมือทำมากเท่าไร มันจะสะสมบ่มเพาะจนส่งผลให้เราเป็นคนที่ “เหนือชั้น” มากขึ้นเท่านั้น
หนึ่งคือ “การเดินทาง” และสอง-คือ “การอ่านหนังสือ”
(วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ : บรรณาธิการอำนวยการ หนังสือ a day)

ภาพซ้าย : ผู้เขียนได้ปรับพื้นที่ใช้สอยบางส่วนในบ้าน ให้เป็นห้องหนังสือ เพื่อใช้เป็นสถานที่ทบทวนความรู้ของตนเองอยู่เป็นประจำ

คำกล่าวข้างต้น ผู้เขียนได้หยิบยกมาจากหนังสือเล่มหนึ่งที่ผู้เขียนได้อ่านจากงานของ "คุณวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์" ซึ่งถือเป็นนักเขียนและคนทำหนังสือ ที่ผู้เขียนรู้สึกชื่นชอบมากท่านหนึ่ง ทั้งในแง่ของผลงานและความคิดอ่านของตัวคุณวงศ์ทนงเอง

โดยส่วนตัวผู้เขียนเอง ก็เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือที่หลากหลายคนหนึ่ง ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ บ้างก็เป็นเรื่องราวในแวดวงการจัดการในองค์กรต่าง ๆ บ้างก็เป็นบทสัมภาษณ์ที่ดี ๆ ของผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ในแวดวงต่าง ๆ ที่ได้นำมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นหลังเพื่อไม่ต้องไปลองผิดลองถูกอีก บางเรื่องก็เป็นประเด็นที่กำลังกล่าวถึงในสังคม ไปจนถึงข่าวสารบ้านเมืองต่าง ๆ

เมื่อเราอ่านไปได้ระยะหนึ่ง เราก็จะพบว่า "หนังสือ" จะเป็นทั้งเพื่อนและอาจารย์ที่ให้ทั้งความสุขแก่ตัวเรา ผ่อนคลายความตรึงเครียดในจิตใจ คอยให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะที่ดี ๆ แก่ตัวเราเพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงาน และการอ่านยังสามารถพัฒนามุมมองของตัวเราให้กว้างไกลมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลในวงการอื่นที่น่าสนใจจะเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่หลากหลายชิ้นเข้ามาประกอบกันเป็นส่วนหนึ่งในความคิด ให้เราสามารถมองเห็นเป้าหมายหรือภาพรวมในงานของเรา หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมได้อย่างชัดเจน เป็นระบบ และเป็นขั้นตอนมากขึ้น

เคยมีคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "นายบิล คลินตัน" ที่ว่า หากเราอ่านหนังสือพิมพ์วันละ 6 ฉบับ ต่อเนื่องกันทุกวัน เราจะมีความรู้เท่ากับรัฐมนตรี ผู้เขียนคิดว่าคำกล่าวดังกล่าว ไม่ผิดไปจากความจริงเลย เพราะหนังสือพิมพ์ จะมีเนื้อหาที่หลากหลายมากมาย ทั้งข่าวสั้น ข่าวประจำวัน ข่าวต่างประเทศ บทความจากผู้มีชื่อเสียงในด้านต่าง ๆ ของสังคม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้หากเราอ่านและทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะทำให้เราทราบข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อย่างถูกต้องแล้ว ยังทำให้เราสามารถ "จับประเด็น" ในการนำเสนอของสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบันได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้น ต่างได้รับการกรองจากสื่อต่าง ๆ มาแล้วในระดับหนึ่ง

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้อ่านและศึกษาในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวกฎหมายใหม่ ที่อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนทำงานอยู่ ผู้เขียนก็พบคำ ๆ หนึ่ง ที่ฟังดูแล้วก็น่าสนใจดี ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำมาประยุกต์ปรับใช้ คือคำว่า "การขยายฐานความรู้ให้กว้าง" (ที่จริงแล้วในตัวกฎหมายที่ผู้เขียนอ่านเป็นคำว่า "ขยายฐานภาษีให้กว้าง" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการจัดเก็บภาษี และทำให้รัฐมีรายได้ที่มากขึ้น)

การขยายฐานความรู้ให้กว้างในปัจจุบัน นับเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่จำกัดว่าคุณจะทำงานในสายวิชาชีพใด แม้คุณจะเป็นวิศวกร แพทย์ ทนายความ หรือวิชาชีพอื่นใด ผู้เขียนคิดว่าจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้ในแวดวงอื่น ๆ เข้ามาเป็นฐานความรู้ที่อยู่ในความคิดของตัวเราเพิ่มเติมด้วย

ผู้เขียนเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ได้กล่าวถึงการเป็นผู้ที่มีฐานความรู้กว้าง จะทำให้เราสามารถที่จะดำเนินการหรือตัดสินใจในเรื่องหนึ่ง ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะข้อมูลต่าง ๆ ที่เขามีอยู่ ทำให้เขาสามารถนำมาประมวลความคิดได้อย่างครบถ้วนทุกองค์ประกอบ หรือพูดอีกอย่างก็คือ ทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดน้อยลงไปอีกระดับหนึ่ง

ฐานความรู้กว้างในที่นี้ มีความเกี่ยวข้องกับตัวผู้บริหารโครงการอย่างไร

เนื่องจากผู้บริหารโครงการในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่จะคอยบริหารงานที่อยู่ในภายในกรอบแนวทางของโครงการที่วางไว้เท่านั้น แต่ยังต้องคอย "บริหารประเด็นหรือสถานการณ์" ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ให้สอดคล้องกับแนวทางที่เราได้วางไว้ ทั้งยังต้องคำนึงถึงประเด็นปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโครงการได้ รวมไปถึงการพิจารณาจากนโยบายของภาครัฐที่ได้กำหนดขึ้น ว่าเราจะกำหนดโครงการอะไรขึ้นมารองรับในแต่ละปี ซึ่งถือเป็นที่มาในการจัดทำโครงการของหน่วยงานของเราด้วยเช่นกัน

การมีฐานความรู้ที่กว้าง จะทำให้ผู้ที่ทำงานในด้านการบริหารโครงการ มีพื้นฐานในการพิจารณาข้อมูลด้านต่าง ๆ ที่มากขึ้น เป็นแนวทางใช้ประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารโครงการได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งทำให้ทราบถึงหรือพัฒนาให้เกิดแนวทางปฏิบัติใหม่ ๆ ที่จะสามารถนำมาปรับใช้ในการบริหารโครงการได้มากขึ้น

ลักษณะเช่นนี้จะคล้าย ๆ กับการทำงานในรูปแบบที่เรียกว่า Adaptive Work คือ มิใช่เป็นวิธีการทำงานที่ปฏิบัติสืบต่อ ๆ กันมา แต่เป็นการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ แล้วตัวเราได้รวบรวมประเด็นเหล่านั้นมาปรับ ประยุกต์ใช้งาน รวบรวมเป็นแนวทางหรือเป็นคู่มือการปฏิบัติงาน เพื่อให้เป็นแนวทางแก่ผู้ที่เข้ามาสานงานต่อไป (ผู้ที่เข้ามารับช่วงบริหารโครงการต่อจากเรา) ทำให้ไม่ต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

ซึ่งการอ่านหนังสือที่มาจากผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ไม่จำกัดว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการในด้านใด ถือได้ว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่เราสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ในการพัฒนางานทั้งในส่วนของงานปกติประจำวันหรืองานด้านการบริหารโครงการได้อีกทางหนึ่ง

และการที่องค์กรของเรา ได้ทำให้เกิดคู่มือการปฏิบัติงานขึ้นมาได้นั้น ก็เป็นเหมือนการทำ Knowledge Sharing ในเรื่องของการจัดการความรู้ภายในองค์กรได้อีกทางหนึ่งด้วย

สุดท้ายสำหรับผู้ที่ได้เข้ามาอ่านในบล็อกนี้ ไม่ว่าจะยังเป็นนักเรียนหรือผู้ที่ทำงานแล้ว ผู้เขียนอยากจะขอเสนอแนะให้ทุก ๆ ท่าน ได้หันมาอ่านหนังสือกันให้มาก ๆ อ่านให้หลากหลาย อ่านหลาย ๆ รอบในเรื่องที่เราสนใจ หากสามารถนำมาลงมือปฏิบัติได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งสำหรับตัวเรา และในองค์กรที่เราทำงานอยู่

เพราะหากเราลองคำนวณดูคร่าว ๆ เพียงแค่เรากันเงินส่วนตัว ที่เราเคยใช้จ่ายเรื่องที่ไม่จำเป็นมากนักซักเดือนละ 200.- บาท หาซื้อหนังสือที่เราสนใจมาอ่านเดือนละหนึ่งเล่ม ผ่านไปเพียงหนึ่งปี เราก็จะได้ความรู้จากเรื่องราวต่าง ๆ จากผู้เขียนถึง 12 ท่านเลยทีเดียว

และที่สำคัญเรายังสามารถนำไปถ่ายทอดให้คนรู้จักที่เราสนิทสนม หรือคุ้นเคยกันให้ลองมาอ่านกันดูได้ ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้วครับ เพราะความรู้ถือเป็นเรื่องที่เราควรจะนำมาแบ่งปันกันเป็นอย่างยิ่งครับ

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

การประชุมสรุปงาน เทคนิคเพื่อการติดตามและประเมินความก้าวหน้าโครงการ

สุรศักดิ์ อัครอารีสุข : surasak_cpb@yahoo.com
ผู้เขียนมีประสบการณ์และคลุกคลีในงานด้านนโยบายและแผนขององค์กร และงานด้านการจัดการองค์กรมามากกว่า 10 ปี และเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการจัดทำโครงการแก่ผู้บริหารโครงการขององค์กi

แผนงานที่อาจจะดูแล้วธรรมดาแต่นำมาปฏิบัติกันอย่างแข็งขัน ย่อมดีกว่าแผนงานที่ดูแล้วสวยหรูแต่นำมาปฏิบัติกันอย่างซังกะตาย (นิรนาม)

ภาพซ้าย : ผู้เขียน กับรูปแบบการประชุมสรุปงานแบบหนึ่ง ในการปฏิบัติงานจริงภายในองค์กร

ในรอบปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับมอบหมายงานค่อนข้างหลากหลาย เช่น การเข้าไปเป็นคณะทำงานชุดต่าง ๆ ภายในองค์กร การเป็นกรรมการด้านวินัย กรรมการเพื่อสอบทุนการศึกษาทั้งบุคลากรในองค์กรและบุคคลภายนอก (ส่วนหนึ่งของโครงการ) การเป็นกรรมการตรวจรับงานรูปแบบต่าง ๆ ของโครงการต่าง ๆ เป็นต้น

งานแต่ละชิ้นที่ผู้เขียนได้รับมอบหมาย ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้และขัดเกลาความรู้ความเข้าใจในงานให้ดียิ่งขึ้นเป็นลำดับ ทำให้มองเห็นถึงภาพรวมขององค์กรได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นโชคดีของผู้เขียนไม่น้อยทีเดียว

จากรูปแบบงานที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวข้างต้น ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้แนวทางการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ “วิธีการประชุมสรุปงาน”

ซึ่งผู้เข้ามาเป็นคณะทำงาน หรือผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เมื่อปฏิบัติงานเสร็จสิ้นในแต่ละเรื่อง หรือในแต่ละกรอบเวลาตามเป้าหมายที่ได้กำหนดดไว้ ทีมงานทุกคนจะต้องมาประชุมสรุปงานกันทุกครั้ง การสรุปแต่ละครั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อ “กำหนดประเด็น” ที่เราจะนำไปสื่อสารต่อ ว่าในการมาปฏิบัติงานในชิ้นนี้
- เราจะต้องตัดสินใจในเรื่องอะไรบ้าง
- เราได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง
- มีประเด็นปัญหาอะไร
- เราต้องไปดำเนินการอะไรต่อ
- เราจะกลับมาพบกันอีกเมื่อไร
- ในครั้งหน้าเราต้องเตรียม (ข้อมูล) อะไรมาเพิ่มเติมบ้าง

การใช้วิธีการนี้ ถือเป็นวิธีการที่ดีมาก ทำให้ผู้ที่เข้ามาประสานงานหรือปฏิบัติงานร่วมกัน ไม่หลงทาง หรือไม่เข้าใจประเด็นที่ผิดพลาดเมื่อได้มาทำงานร่วมกันในแต่ละครั้ง และเมื่อแยกย้ายกันออกไปแล้วก็นำไปปฏิบัติกันอย่างไม่สับสน มีประเด็นที่จะนำไปสื่อสารหรือปฏิบัติท่ชัดเจน ที่สำคัญเป็นการทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งได้ว่าเราเข้าใจตรงกันไหม

วิธีการดังกล่าว ผู้เขียนจึงคิดว่า สามารถที่จะนำมาประยุกต์เพื่อปรับใช้ในการทำงานด้าน “การบริหารโครงการ” สำหรับผู้บริหารโครงการได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

และเมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนก้ได้มีโอกาสอ่านบทความหนึ่ง จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (ประมาณปลาย ๆ ปี 2552) ของ “คุณพอใจ พุกกะคุปต์” ในชื่อบทความ “ถอดรหัสธุรกิจ”

บทความดังกล่าวพูดถึงเทคนิค “การประชุมสรุปงาน” หรือ AAR (After Action Review) ไว้อย่างกระชับและตรงประเด็น ผู้เขียนจึงคิดว่าน่าจะนำมานำเสนอให้แก่ผู้สนใจ เพื่อนำไปปรับใช้ในงานด้านการติดตามและประเมินความก้าวหน้าของโครงการได้อย่างตรงประเด็น และมีหลักการรองรับ

สาระสำคัญ ก็คือ เทคนิค/กระบวนการดังกล่าว เป็นแนวทางที่สามารถนำมาใช้กำหนดเป้าหมายในการทำงานได้เป็นอย่างดี สามารถนำมาใช้ได้ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ทีมงาน (ในเรื่องของการบริหารโครงการ) และระดับประเทศได้เลย กระบวนการที่ว่าก็คือ AAR ย่อมาจาก (After Action Review) หรือการวิเคราะห์หลังเสร็จสิ้นภารกิจของ “กองทัพสหรัฐ” (ในฐานะผู้นำมาเผยแพร่)

วิธีการ AAR ที่กล่าวถึงนี้ก็คือ หลังจากเราเสร็จสิ้นการทำงานทุกครั้ง (โดยเฉพาะในเรื่องของการดำเนินโครงการที่อาจจะใช้กรอบเวลาเป็นตัวกำหนด) ต้องมีการประชุมสรุปงานทุกครั้ง โดยจะต้องตอบคำถามหลัก 3 ข้อ ก็คือ

1. เป้าหมายของงานครั้งนี้ (ที่เราได้รับมอบหมาย หรือเป้าหมายที่โครงการได้กำหนดไว้) เรา/ผู้บริหารโครงการ ต้องการให้เกิดอะไร
2. เมื่อเราดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ผลเป็นอย่างไรหรือเกิดอะไรขึ้น เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้/หรือตามความต้องการของเราหรือไม่
3. ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น แตกต่างจากข้อ 1. (เป้าหมาย) ที่เรา/ผู้บริหารโครงการ ได้กำหนดไว้หรือไม่ เพราะอะไร (จึงแตกต่าง/หรือประสบความสำเร็จ)

ข้อมูลที่เราจะได้จากการที่เรา/ผู้บริหารโครงการ ได้ทำการวิเคราะห์จากหลักการ 3 ข้อ นี้ จะทำให้ตัวเรา/ผู้บริหารโครงการ สามารถบอกได้ถึงที่มาของความสำเร็จตามเป้าหมาย หรือเป็นการชี้ให้เราได้เห็นว่า แนวทางการปรับปรุง (การทบทวนวิธีการหรือเป้าหมายใหม่) ว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง จึงจะบรรลุเป้าหมาย

ประเด็นสำคัญของเทคนิค AAR ก็คือ

- การที่ทีมงานทุกคน (ของผู้บริหารโครงการ) เกิดความตระหนักและมั่นใจ ว่าวิธีการนี้เป็นวิธีการที่จะนำมาใช้เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาวิธีการทำงานของตัวเรา ไม่ใช่การหาผู้ผิดพลาด ทำให้วิธีการทำงานของเรานั้นก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ
- ทุกฝ่าย (ตั้งแต่หัวหน้าโครงการ ผู้ที่ได้รับมอบหมาย ทีมงานทุกคน) ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมสรุปงาน และทำอย่างจริงจัง อย่างต่อเนื่อง มีกำหนดเวลาที่แน่ชัด และระยะเวลาไม่ทิ้งห่างกันจนเกินไป
- ผู้นำขององค์กร หน่วยงาน หรือทีมบริหารของโครงการ จะต้องให้ความสำคัญ จะต้องกำหนดเลยว่าเป็นวิธีการที่เราจะนำมาใช้ในการติดตามและประเมินความก้าวหน้าโครงการ และงานอื่น ๆ ที่เราได้รับมอบหมาย

เทคนิคหรือวิธีการที่นำเสนอข้างต้น ถือได้ว่า เป็นเทคนิคที่เรียบง่าย ไม่ว่าใครก็สามารถนำมาปฏิบัติได้ โดยเฉพาะในที่นี้ที่อยากจะมุ่งเน้น ก็คือ ผู้บริหารโครงการ เป็นวิธีการที่ไม่ซับซ้อนแต่อย่างใด ต้นทุนที่เราใช้ก็ไม่มาก ซึ่งก็คือ “เวลา” ที่ต้องกำหนดกันอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง

ผู้เขียนขอเพิ่มเติมแนบท้ายสักหน่อยครับ ที่ในช่วงต้นที่ได้กล่าวถึงในส่วนของที่มาของเทคนิค คือ “กองทัพสหรัฐ”

กองทัพสหรัฐ จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านในหนังสือต่าง ๆ แล้วพบว่า เป็นหน่วยงานลำดับต้น ๆ เลยทีเดียว ที่ได้มีการเผยแพร่ในเรื่องของหลักการหรือเทคนิคการบริหารจัดการองค์กรที่น่าสนใจ หรือวิธีการปฏิบัติงานที่เป็นระบบ สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที และมักมีการนำเสนอผ่านสถาบันที่มีการสอนวิชาธุรกิจต่าง ๆ เป็นกรณีศึกษาทางธุรกิจ สามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นโนวฮาวน์ (แนวทางปฏิบัติใหม่ ๆ) ให้แก่แวดวงด้าน Management สามารถนำมาใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างหนึ่ง ที่ได้มีการนำมาเผยแพร่กันค่อนข้างนานแล้ว เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว ในแวดวงของโรงเรียนบริหารธุรกิจหรือหลักสูตร MBA ก็คือ ผลจากการวิจัยของกองทัพเรือสหรัฐ (อ้างอิงจาก บทสัมภาษณ์ในหนังสือ thaicoonbook ของ "ซิคเว่ บรัคเก้") ที่ได้กำหนดให้มีการแข่งขันเกมสงคราม ระหว่าง “ทีมทหารของกองทัพเรือสหรัฐ” กับ “กลุ่มนักผจญเพลิงชาวนิยอร์ก (ที่ไม่มีความรู้ทางทหารเลย”
ปรากฎว่าทหารแพ้ ตอนแรกนึกกันว่าเป็นเรื่องบังเอิญ แต่หลายเกมผ่านไป ฝั่งทหารของยังเอาชนะไม่ได้

จึงกลายมาเป็นกรณีศึกษาของโรงเรียนธุรกิจ ว่า "ทำไมนักผจญเพลิงเอาชนะนักวางแผนสงครามได้"

ประเด็นน่าสนใจที่พบ ก็คือ สิ่งที่นักผจญเพลิงทำก็คือพยายามใช้ความรู้สึก ใช้กึ๋น (Gut Feeling) ในการเล่น ไม่มีแผนหนึ่ง แผนสอง หรือแผนสาม อะไรทั้งนั้น ถ้าพวกเขาเดินพลาดไป ก็จะคิดแก้ไขใหม่ คือ เชื่อในแผนการ หรือการคิดว่าจะทำอะไร ถ้าเกิดว่า....ถ้าเกิดว่า....

กล่าว่โดยสรุปก็คือ สิ่งที่สำคัญกว่าแผนงานที่ดีเยี่ยม คือ ความสามารถในการปฏิบัติตามแผนงานนั้นอย่างรวดเร็ว และอย่างแข็งขันจริงจังนั่นเอง

เป็นอย่างไรครับ กรณีศึกษาและประเด็นที่นำมาเสนอให้ทุกท่านได้เห็น น่าจะพอเป็นประโยชน์ได้นะครับ