วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ถามตอบเรื่องมอบหมายงาน-แตกต่างที่ความอาวุโส แต่ตำแหน่งไม่แตกต่างกัน

นายสุรศักดิ์ อัครอารีสุข
173 ถนนนครราชสีมา ดุสิต กรุงเทพฯ 10300
e-mail : surasakdota@crownpropertydotordotth
surasak_cpb@yahoo.com
surasak_cpb@hotmail.com
http://surasak-akkaraareesuk.blogspot.com/

สุรศักดิ์ อัครอารีสุข มีประสบการณ์และคลุกคลีในงานด้านนโยบายและแผน และงานด้านการจัดการองค์กรมามากกว่า 10 ปี เป็นผู้ให้คำปรึกษาในการจัดทำโครงการแก่ผู้บริหารโครงการขององค์กร

จากตอนที่แล้ว  ที่ผู้เขียนได้นำเสนอประเด็นปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นได้  ในกรณีผู้ที่พึ่งได้รับการส่งเสริมจากองค์กรให้เป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารในองค์กร  ถึงแนวทางที่ตัวเราน่าจะนำมาใช้ในการบริหารจัดการตัวลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา  ซึ่งในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงกรณี  “ลูกน้องของเรามัวไปสนใจงานอื่น”  จนลืมงานที่เราในฐานะหัวหน้าได้มอบหมายไปนั้น ว่าเราควรจะทำอย่างไร

ในตอนนี้  ผู้เขียนจึงขอนำเสนออีกประเด็นหนึ่ง  ซึ่งถือเป็นประเด็นที่อาจจะสร้างความลำบากใจในตัวผู้ที่มีแววว่าจะได้รับการโปรโมทจากองค์  แต่ยังไม่ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ  โดยที่ตนอาวุโสกว่าในเรื่องของอายุงาน  ประสบการณ์  และความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ขององค์กร  แล้วเขาจะทำอย่างไร   เราลองมาดูคำถามและคำตอบที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปครับ

คุณเก๋ (นามสมมติ) / คำถาม :  ตัวผมยังไม่มีคำสั่งหรือหนังสือแต่งตั้งเป็นหัวหน้าภายในองค์กรที่ทำงานอยู่  แต่ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลงานในฐานะหัวหน้าทีมเท่านั้น  ถ้าในสถานะของผมตอนนี้  คุณมีข้อแนะนำเพิ่มเติมในการบังคับบัญชา  การติดตามงาน  การมอบหมายงานในฐานะหัวหน้าหรือไม่ครับ  คุณมองว่าในสถานะนี้ผมสามารถทำได้หรือไม่ครับ   (ตอนนี้ผมมีตำแหน่งเดียวกัน  แต่ผมมีอาวุโสในเรื่องของอายุตัว  อายุงาน  ประสบการณ์ในงาน  และได้รับมอบหมายจากหัวหน้าของหน่วยงานให้เป็นหัวหน้าทีม  และได้รับการวางตัวให้เติบโตเป็นผู้บริหารในองค์กรต่อไป  ซึ่งทุกคนรับทราบในข้อนี้อย่างเป็นทางการ)

ผู้เขียน / คำตอบ :  เราสามารถทำได้ครับคุณเก๋ (นามสมมติ) 

เพียงแต่เราต้องค่อย ๆ ทำ  ค่อย ๆ เริ่มต้น  ไม่ต้องรีบร้อนครับ   เพราะปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในทางความรู้สึกในการทำงานร่วมกันในตอนนี้  ก็คือ  ความเป็นเพื่อน  ที่มีมาจากอดีตก่อนนั่นเอง   แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะทำไม่ได้   ขอเพียงเราตั้งใจและมุ่งมั่นกับมันก็พอ  มีปัญหาก็ค่อย ๆ หยิบขึ้นมาแก้ไขครับ  อันไหนที่แก้ไขไม่ได้  เราก็ถือว่าเป็นประเด็นปัญหาที่เราจะต้องหาวิธีการแก้ไขมาใช้ให้ได้ผลในอนาคต  หรือหากแก้ไขไม่ได้จริง   มันก็คือสิ่งที่เราจะต้องอยู่กับมันให้ได้ครับ 

ผมอยากให้คุณเก๋ได้เข้าใจอย่างหนึ่ง  ก็คือ  ตำแหน่งที่แต่งตั้งในองค์กรเป็นเพียง  หัวโขน  เท่านั้นครับ   ปราศจากการมอบอำนาจอย่างเป็นทางการ  ก็ไม่มีความหมายครับ (อันนี้เป็นข้อเท็จจริงเลยครับ)  มีอดีตผู้บริหารจำนวนไม่น้อย และในทุกองค์กร  (โดยเฉพาะในองค์กรราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรเอกชนที่มีขนาดใหญ่  ที่อำนาจจากฝ่ายบริหารกลาง  มักจะเอื้อมลงไปไม่ถึงในระดับการจัดการที่ต่ำลงไปกว่า 3 ระดับ) ที่เรามักจะพบว่ามีคนเหล่านี้เดินเตร่อยู่ในองค์กรอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว  โดยที่ไม่ได้รับมอบอำนาจให้ทำอะไรอย่างเป็นทางการ  หรือเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เคยมีความสำคัญในภารกิจขององค์กรในอดีตจำนวนมาก  ที่ถูกปลดจากตำแหน่งโดยที่องค์กรเองก็ยังไม่ได้มอบหมายอะไรอย่างเป็นทางการ (อาจจะเกิดจากความผิดพลาด  ไม่มีความสามารถ อะไรก็แล้วแต่)  ก็ไม่มีการมอบอำนาจให้ทำอะไร   

ดังนั้น  การที่คุณเก๋ได้มีโอกาสอย่างนี้  ผมมองว่า "เป็นความท้าทาย" ของตัวคุณเก๋อย่างมากเลยนะครับ  นั่นก็คือ  ขนาดยังไม่มีการแต่งตังตัวคุณเก๋อย่างเป็นทางการ  เรายังได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมให้รับผิดชอบงานอย่างจริงจัง  มีเป้าหมายให้พุ่งชน  มีทีมงานให้ใช้งาน  เป็นเหมือนเครื่องมือให้กับตัวเราสามารถหยิบใช้สอยได้  ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่ายินดีและท้าทายตัวเรามากกว่า 

ในที่นี้โจทย์ก็คือว่า  “เราจะทำอย่างไร  ให้เราสามารถที่จะทำงานร่วมกับเขา (คนที่มีฐานะลูกน้องของเรา) ได้  โดยที่เกิดผลงานไปพร้อมกัน”  ผ่านการกำหนดเป้าหมายและการจัดการทีมงานร่วมกันมากกว่า

การมอบอำนาจ ในที่นี้ ผมมิได้หมายถึงว่าต้องเขียนเป็นหนังสือมอบอำนาจอย่างเดียวนะครับ  การมอบอำนาจในที่นี้เราสามารถทำได้จากหัวหน้าของเรา (หัวหน้าของคุณเก๋)  คือ  สามารถทำได้ด้วยวาจา  ก็คือ สามารถกระทำได้โดยคนที่มีอำนาจสูงสุดในหน่วยงานนั้นแหละครับ  คำสั่งของคนใหญ่สุดในหน่วยงานก็ย่อมถือเป็นที่สิ้นสุด

ดังนั้น  คุณเก๋  ก็อาจจำเป็นต้องนำประเด็นเหล่านี้   ไปปรึกษาให้หัวหน้าของคุณเก๋รับทราบ  พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางที่คุณเก๋ (จากบทความตอนที่แล้ว) จะนำมาใช้  และบอกให้หัวหน้าของเราทราบว่า เราจะทำอย่างไร จะทำไปเพื่ออะไร  คาดว่าจะได้ประโยชน์อะไร  เช่น   เพื่อทำให้เขา (ลูกน้อง)  หันมา Focus กับงานที่ได้รับมอบหมายมากขึ้น หรือเพื่อเป็นการฝึกเขาในเชิงบริหารจัดการองค์กร  ยกตัวอย่างเช่น  เพื่อเป็นการฝึกให้เขาสามารถนำเสนองานในเชิงเทคนิคที่รับผิดชอบอยู่  ให้สามารถสื่อสารที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น  กระชับขึ้น  มีประเด็นหรือมีทิศทาง  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเอง (ลูกน้องคุณเก๋) ในเรื่องของความก้าวหน้าในอนาคต   (เพราะงาน  บริหาร  มันก็เหมือนกับความตายแหละครับ  คือ  ไม่มีใครหนีมันพ้น)  

วิธีการอย่างง่ายก็คือ  คุณเก๋   จำเป็นต้องขอให้หัวหน้าของเรา  ได้มอบหมาย  สถานะ  ของตัวคุณเก๋   ให้ทั้งหน่วยงานได้รับทราบอย่างเป็นทางการ  (ก็คือ การมอบอำนาจด้วยวาจา)  ผ่านการประชุมต่าง ๆ ของหน่วยงานสังกัดของเรา  เช่น  เพื่อกำหนดนโยบาย การมอบหมายงาน การสรุปงาน  หรือการติดตามงานประจำเดือนของหน่วยงาน  นั่นหมายความว่า  ถือเป็นการรับรองกลาย ๆ ว่าคุณเก๋ คือ  หัวหน้าอย่างเป็นทางการในอนาคต  และเป็นการที่ได้แสดงให้ทุกคนเห็นว่า  เขา (หัวหน้าของคุณเก๋) ก็มีความต้องการ”  ทีจะให้คุณเก๋ เป็นหัวหน้าในอนาคตนั่นเอง  

และเมื่อหัวหน้าของเรารับรองเรา  ต่อหน้าการประชุมทุกเดือน  (คือ  มอบหมายงานให้เราในฐานะหัวหน้า)  ก็ไม่แปลกอะไรที่เราจะอยู่ในสถานะคนออกคำสั่งต่อจากเขา  ที่ทุกคนก็ต้องพร้อมยอมรับ 

อยากแนะนำว่า อย่าไปยึดติดเรื่องสถานะของตำแหน่งเลยครับ  ประเด็นอยู่ที่ “การมอบอำนาจที่ชัดเจน”  ต่างหาก   ขอให้มีการมอบอำนาจเถอะครับ  เรื่องอื่นเป็นเรื่องที่เราสามารถไปเรียนรู้ในอนาคตได้  เราค่อย ๆ วางแผน  หาแนวทางแก้ไข  ศึกษาหาความรู้เทคนิคการบริหารใหม่ ๆ  เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ  ประเด็นใดที่เรา (หน่วยงานของเรา)  แก้ไขไม่ได้  ก็ถือเป็นประเด็นปัญหา  ที่เราจะต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ให้ได้  (ซึ่งก็คือ การปรับตัวนั่นเอง) 

หากตำแหน่งหัวหน้าในแต่ละองค์กรมีจำนวนมากหรือน้อยเพียงใด  มีการระดับก็ตาม   แต่หากไม่มีการกำหนด   “อำนาจการอนุมัติ”  หรือ  “ความรับผิดชอบในการสั่งการเรื่องใด ๆ”   ก็คงไม่ทำให้สถานะตำแหน่งเหล่านั้น  มีความแข็งแกร่งขึ้นหรือความน่ายำเกรงขึ้นต่อบุคลากรในองค์กรได้แต่อย่างใด    .....เพื่อให้ชัดเจนขึ้น   ก็อำนาจในการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี  เพื่อขึ้นเงินเดือน  หรือเพื่อการเลื่อนระดับบุคลากรในองค์กรที่เราก็ต้องเจอกับตัวเองด้วยไงครับ

ประเด็นทั้งหมดนี้ ผมขอยังไม่ไปกล่าวถึงเรื่องการวางตัวของเรา ว่าน่าเคารพนับถือเพียงใด การมีภาพลักษณ์ที่ดี  การมีความรู้ที่จะถ่ายทอด  หรือสอนงาน  ฯลฯ  จึงจะก้าวไปสู่การเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารที่ดีขององค์กรนะครับ  อันนี้ให้เป็นเรื่องที่เราจะต้องค่อย ๆ เรียนรู้  ฝึกฝน  และต้องมีการนำมาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิผลต่อหน่วยงาน ต่อทีมงาน  และต่อตัวเราเองต่อไปในอนาคตครับ

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ถามตอบเรื่องมอบหมายงาน-เราจะทำอย่างไรเมื่อลูกน้องของเราไปสนใจงานอื่น

นายสุรศักดิ์ อัครอารีสุข
173 ถนนนครราชสีมา ดุสิต กรุงเทพฯ 10300
e-mail : surasakdota@crownpropertydotordotth
surasak_cpb@yahoo.com
surasak_cpb@hotmail.com
http://surasak-akkaraareesuk.blogspot.com/

สุรศักดิ์ อัครอารีสุข มีประสบการณ์และคลุกคลีในงานด้านนโยบายและแผน และงานด้านการจัดการองค์กรมามากกว่า 10 ปี เป็นผู้ให้คำปรึกษาในการจัดทำโครงการแก่ผู้บริหารโครงการขององค์กร

2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสให้คำแนะนำ ในเรื่องของแนวทางในการมอบหมายงานให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา แก่เพื่อนต่างองค์กรท่านหนึ่ง คำแนะนำดังกล่าวจะมีลักษณะที่เป็นประเด็นปัญหาเรามักจะพบเห็นได้อยู่ทั่วไป อันสืบเนื่องมาจากที่เขาได้พึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้างานใหม่ในองค์กร

ลักษณะของปัญหานี้ มักจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอกับผู้ที่พึ่งเป็นหัวหน้างาน และผู้เขียนก็จะได้รับคำถามในลักษณะนี้ค่อนข้างบ่อย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าในบางประเด็นที่ได้ให้คำแนะนำไป ก็น่าที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน รวมถึงน้อง ๆ คนทำงานรุ่นใหม่ ที่อาจจะยังไม่มีประสบการณ์ในเชิงบริหาร (ซึ่งก็คือ การที่เรารู้จัก “กำหนดเป้าหมายและวิธีการจัดการคน” นั่นเอง) ก็สามารถนำไปปรับใช้งานได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ให้ไปนั้น ผู้เขียนก็ได้กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ของตนเอง รวมทั้งแนวคิดที่มาจากผู้รู้ผู้ที่มีความชำนาญ มาผสมผสานเพื่อให้เป็นมุมมองที่ชัดเจนต่อตัวผู้มาขอคำปรึกษาดังกล่าว ต่อไปนี้จะเป็นลักษณะของคำถามคำตอบที่ผู้เขียนได้ใช้ไป โดยปรับเปลี่ยนตัวละครเล็กน้อย เราลองมาดูกันครับ

คุณเก๋ (นามสมมติ) / คำถาม ผมอยากสอบถามหน่อยนะครับว่า ในกรณีที่คุณจะต้องมอบหมายงานให้ลูกน้องทำงานไม่ว่าชิ้นใดก็ตาม แล้วปรากฎว่าเขาบอกว่ามีงานเยอะ คุณจะทำอย่างไรครับ ข้อมูลเพิ่มเติมของคำว่างานเยอะก็คือ
1. ชอบสนใจงานของคนอื่นๆ ทำให้ไม่มีเวลาในการทำงานของตัวเอง
2. งานที่ต้องมอบหมายให้ทำเป็นงานเฉพาะด้านทางเทคนิคซึ่งตัวคุณเองก็ไม่มีความรู้

ตัวผู้เขียน/คำตอบ มีคำกล่าวคม ๆ ที่ว่า “หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของหัวหน้า คือ การสื่อสารกับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยการประชุม” ในตำราสมัยใหม่ เขามักจะไม่ให้เรียกคำว่า “ผู้ใต้บังคับบัญชา” แต่จะนิยมให้เรียกว่า “ลูกน้อง” โดยอ้างว่าหมายถึง “ลูก” และ “น้อง” ของเรา แต่ในมุมมองผมความสัมพันธ์ของคนภายในองค์กร มักจะหนีคำว่า “ผู้ใต้บังคับบัญชา” กันไม่พ้นหรอกครับ ไม่ว่าเราจะกำหนดคำที่ใช้เรียกว่าอะไรก็ตาม

ในประเด็นของคุณเก๋ (นามสมมติ) อาจจะใช้แนวทาง “การประชุมเพื่อสื่อสารประเด็นต่าง ๆ” เข้ามาใช้  คือ  มีวัตถุประสงค์เพื่อ “หารือ สื่อสาร กำหนดงาน มอบหมายงาน แบ่งงาน ติดตามความก้าวหน้าของงาน ”  กับผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน เช่น เรากำหนดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนได้ทราบเลยว่า ในทุกวันจันทร์ เราจะมีการประชุมแผนกกัน ซึ่งการประชุมกันครั้งหนึ่ง ก็ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงหรือ 45 นาที (บอกให้เขาทราบอย่างชัดเจน) และบอกให้เขาทราบด้วยว่าเราจะพูดกันทั้งหมดกี่ประเด็นในวันนี้ (ไม่ควรเกิน 4 ประเด็น ต่อการประชุมหนึ่งครั้ง เพื่อความกระชับของการประชุมแต่ละครั้ง) และที่สำคัญ....เราต้องเป็นคนคุมประเด็นและระยะเวลาการประชุมไม่ให้แตกออกไป

ก่อนประชุมจะเสร็จสิ้นลงทุกครั้ง ต้องมีการสรุปกันว่า ในวันนี้ (ที่ประชุมกัน) เราคุยกันแล้วได้ข้อสรุปในแต่ละประเด็นอะไรบ้าง ใครเป้นผู้รับผิดชอบ ทำไมคนนั้นจึงต้องรับผิดชอบเรื่องนั้น ทำไมจึงต้องแบ่งงานกันออกมา ทำไมจึงต้องมีการติดตามกันทุกสัปดาห์...ฯลฯ เพื่อป้องกันมิให้หลังจากแยกย้ายกันไปแล้ว ไปดำเนินการผิดพลาดเพราะตลอดการประชุมที่ผ่านมาไม่มีสมาธิในการฟังเพียงพอ

พูดมาตั้งนาน คุณเก๋ อาจจะมองว่ายังไม่เข้าประเด็นที่ถาม แต่จริง ๆ แล้ว มันอยู่ในขั้นตอนเหล่านี้นั่นแหละครับ

ยกตัวอย่าง ในกรณีที่เขาชอบสนใจงานของคนอื่น ๆ ทำให้ไม่มีเวลาของตัวเอง คุณเก๋ ก็ใช้การติดตามงานให้มากกว่าปกติ อาจจะเป็น 2 ครั้งต่อสัปดาห์ พร้อมทั้งบอก “เป้าหมาย” ในการติดตามแต่ละครั้งให้เขาทราบว่า ต้องการให้เขาส่งงานอะไรบ้าง ภายในระยะเวลาเมื่อไร ผลงานที่เราต้องการคืออะไร (เกณฑ์ Time, Cost and Quality) เพื่อใช้เป็นเทคนิคการประชุมติดตามงานในแผนก ให้ทุกคนต้องนำเสนอผลงานภายในระยะเวลาที่กำหนด หากเขาส่งไม่ได้ เขาจำเป็นต้องชี้แจงเหตุผล เพื่อที่เราในฐานะหัวหน้า จะได้ค่อย ๆ เข้าไปหาหนทางช่วยเขาเนื่องจากเขาทำงานไม่เสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งย้ำให้เขารับทราบและตระหนักว่า เขาจะต้องส่งงานภายในระยะเวลาใดนั้น ก็เพื่อนำเสนองานให้แก่ “หน่วยงานของเรา” (เป็นภาพรวมขององค์กร เพื่อให้เขาตระหนักถึงความสำคัญ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องให้ระยะเวลาแก่ตัวเขาพอสมควร อาจจะเป็น 6 เดือน ถึงหนึ่งปี จึงจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้) และที่สำคัญการติดตามในลักษณะนี้ จะทำให้เขาไม่มีเวลาไปยุ่งกับงานของคนอื่น ข้อสำคัญที่สุด คือ เขาจะรู้สึกว่าตัวเขา หรืองานของเขามีความสำคัญมากขึ้น เพราะมีหัวหน้าติดตามงานตลอดเวลา (คือ เป็นไปได้หรือไม่ครับว่า เราอาจจะยังติดตามงานที่มอบหมายให้เขาน้อยเกินไป)

คุณเก๋ ต้องจำไว้เลยว่า “มนุษย์เราทุกคน ล้วนแล้วแต่อยากเป็นคนสำคัญ” การมีหัวหน้างานของเขามาคอยติดตามเป็นระยะ เป็นจังหวะเวลา มีเป้าหมายที่ชัดเจน ย่อมทำให้เขาค่อย ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของงานที่ได้รับมอบหมาย

ส่วนเรื่องงานด้านเทคนิค ในประเด็นที่สองที่ถามนั้น ที่บอกว่าเราไม่มีความรู้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องลำบากแต่ประการใด ก็คือ คุณเก๋ ไม่ต้องให้เขาอธิบายให้เราฟังในเชิงเทคนิคหรอกครับ แต่แน่นอนที่ว่าคุณเก๋ย่อมมีหรือรับทราบเป้าหมายสุดท้ายของงานชิ้นนั้นอยู่แล้ว (คือ งานที่หัวหน้าของเราได้มอบหมายให้เราทำ) ดังนั้น หน้าที่ของคุณเก๋ ก็คือ ให้เขามารายงานความก้าวหน้าของงานที่เราได้มอบหมายไปทำนั้น ให้เราได้รับทราบอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยบอกให้เขารู้ว่า เขาจะต้องรายงานในลักษณะนี้ คือ
เป้าหมาย/วัตถุประสงค์ ในการดำเนินการของงานแต่ละเรื่องนั้น คืออะไร เช่น การทำงานครั้งนี้จะทำให้เกิดผลลัพท์อะไร หรือต้องทำในแต่ละแนวทางที่เขานำเสนอเพราะอะไร กำหนดลิสต์ออกมาเป็น 1 2 3 ......
มีรายละเอียดการดำเนินการ ในแต่ละส่วนโดยสรุปอย่างไร ให้เขาเขียนบันทึกออกมาเป็นประเด็น และโดยสังเขป
ประเด็นปัญหาที่พบ ในแต่ละครั้งมีอะไรบ้าง ทำไมจึงเกิดปัญหาเหล่านั้น เราดำเนินการแก้ไขอย่างไร
แนวทางที่จะดำเนินการขั้นต่อไป คืออะไร

กล่าวโดยสรุป คือ เป็นเหมื่อนกับว่า เราให้เขาทำรายงานส่งเราอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง หรือเดือนละครั้ง (แล้วแต่คุณเก๋) โดยใช้โครงร่างการเขียนรายงานสรุปง่าย ๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ตามที่ผมได้กล่าวไว้ในข้างต้น ซึ่งก็จะเป็นตัวบีบเขาโดยธรรมชาติ ที่เขาจะต้องอธิบายออกมาเป็นภาษาง่าย ๆ (โดยมีเราคอยกลั่นกรองเนื้อหาอีกทีหนึ่ง) เพื่อใช้ในการนำเสนอต่อผู้บริหาร

และคุณเก๋ ก็ให้เขาเซ็นต์เอกสารรายงานนั้นพร้อมกับคุณเก๋ (อาจจะไม่ก็ได้ แล้วแต่เรามีวิธีการที่จะให้เขาได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบงานอย่างไร) เพื่อนำเสนอต่อหัวหน้าของเราอีกทีหนึ่ง และคุณเก๋ ก็อาจจะต้องใช้หัวหน้าของเราให้เป็นประโยชน์ ด้วยการไปหารือกับเขา แล้วบอกว่า ต่อไปนี้จะพาคน ๆ นั้น เข้ามาพร้อมกับคุณเก๋ เพื่อรายงานความก้าวหน้า ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน (ถ้ามีเร่งด่วนอาจทุกวันก็ได้ จนกว่าจะหมดความเร่งด่วน)

และพอเสร็จโครงการหนึ่ง หรืองานหนึ่ง ก็ให้เขารวบรวมข้อมูลเก็บไว้อย่างเป็นหมวดหมู่ เพื่อไว้นำเสนอเป็นข้อมูลในลักษณะพอร์ทโฟลิโอของตัวเขาเอง และทุกครั้งที่เราคุยงานกับเขา ก็บอกให้เขาทราบเสมอว่า ที่ให้ทำอย่างนี้ จะเป็นการบันทึกผลงานของเขาไว้โดยตลอด อันจะเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของเขาในอนาคต (ทั้งหมดนี้ ก้ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรเหมือนกันครับ) ซึ่งสุดท้ายก็หนีไม่พ้น คือ “มนุษย์เราทุกคน ล้วนแล้วแต่อยากเป็นคนสำคัญ” นั่นคือ คุณเก๋ ต้องคอยบอกเขาอยู่เสมอว่า ที่เราทำอย่างนี้ทั้งหมด ก็เพื่อวางเส้นทางในอนาคตให้กับตัวเขา เพื่อความก้าวหน้าในงานของตัวเขาเอง เขาจะได้ทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น และจะทำให้เขาเข้าใจได้ดีขึ้นว่า งานที่สำคัญที่สุด ก็คือ “งานที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าของเขาเอง”

ยังมีคำถามประเด็นครับ แล้วผู้เขียนจะมานำเสนอในตอนที่สอง

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความรู้พื้นฐานเพื่อใช้ในการทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ ตอน 2

นายสุรศักดิ์ อัครอารีสุข
ที่อยู่ : 173 ถนนนครราชสีมา ดุสิต กรุงเทพฯ 10300
e-mail : surasakdota@crownpropertydotordotth surasak_cpb@yahoo.com surasak_cpb@hotmail.com
http://surasak-akkaraareesuk.blogspot.com/

สุรศักดิ์ อัครอารีสุข มีประสบการณ์และคลุกคลีในงานด้านนโยบายและแผน และงานด้านการจัดการองค์กรมามากกว่า 10 ปี เป็นผู้ให้คำปรึกษาในการจัดทำโครงการแก่ผู้บริหารโครงการขององค์กร
บทความนี้  ผู้เขียนรวบรวมข้อมูลที่ผู้เขียนใช้งานอยู่  ซึ่งได้รับทัี้งจากการเข้าฟังสัมนา และช้อตโน้ตต่าง ๆ มาเรียบเรียงให้อ่านง่าย  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้แก่ผู้ที่ยังไม่มีความรู้หรือความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจเลย  พอที่จะนำไปต่อยอดความคิดของตนได้  โดยเฉพาะเวลาเราอ่านหนังสือพิมพ์  และพบคำศัพท์เหล่านี้ก็น่าที่จะทำให้เราเข้าใจ หรือมองภาพรวมได้มากขึ้น  เพราะจากประสบการณ์ของตนเองในอดีต รู้สึกว่าเป็นปัญหามาก  คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ทุกท่านได้บ้้างครับ
 
ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน (ปี 2554)  ตอน 2....
2.4.2  ดุลบริการ  ปีละประมาณ 4 แสนล้านบาท  ประกอบด้วย  การท่องเที่ยว  การประกันภัย (เปิดเสรีเฉพาะการประกันวินาศภัย  การประกันชีวิตยังไม่เปิดเสรี  ด้วยเหตุนี้ส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่สุดในประเทศไทย 60 เปอร์เซ็นต์  จึงเป็นของ AIA ด้วยเหตุเป็นผู้เข้ามาก่อน)  และ ค่าระวางเรือ
2.4.3  ดุลบัญชีเดินสะพัด  คือ  ดุลการค้า + ดุลบริการ
2.4.4  การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ    ประกอบด้วย
-  การลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง (FDI – Foreign Direct Investment)  คือ  การเข้ามาลงทุนในประเทศไทย  โดยใช้การตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย  ปัจจุบันที่ต้องออกไป  คือ  คาร์ฟูร์   เพราะได้รับผลกระทบจากการขาด หุ้นส่วน หรือ Partnership  (เนื่องจาก Lotus  เป็นของ CP)    ดังนั้น  7-11  จึงเป็นตัวทำลายระบบร้านค้า โชว์ห่วย  ในประเทศไทย   ไม่ใช่ Super Store 
-  การกู้ยืมเงินในภาครัฐ จะเป็นการกู้ยืมเงินระยะยาวเป็นหลัก
-  การลงทุนในหลักทรัพย์  (Portfolio Investment)  จะมีสองทาง  คือ  ตลาดหุ้น  และตลาดพันธบัตร  ดังนั้น  กระแสเงินดอลลาห์ที่ไหลเข้าประเทศตามมาตรการ QE2  ของสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายปี 2553  จนถึงสิ้นสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2554  จึงมุ่งเข้ามาที่ตลาดพันธบัตร  เนื่องจากอัตราผลตอบแทนตลาดพันธบัตรไทยอยู่ที่ 16 เปอร์เซ็นต์   และส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่าลง 11 เปอร์เซ็นต์  ผลลัพท์ที่ต่างชาติจะได้กลับไปคือ 27 เปอร์เซ็นต์
-  วิเทศธนกิจ  คือ  การเคลื่อนย้ายเงินออกจากบริษัทแม่  มาบริษัทลูก  เช่น  การที่บริษัทต่างชาติ มาซื้อกิจการในประเทศไทย  เช่น  การซื้อธนาคารต่าง ๆ CIMB  UO
กล่าวโดยสรุป  การไหลบ่าเข้ามาของเงินต่างประเทศในรอบสองปีที่ผ่านมา  จะมุ่งเข้าไปที่ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรเป็นหลัก
2.4.5  ดุลการชำระเงิน  คือ  ดุลบัญชีเดินสะพัด+การเคลื่อนย้ายเงินทุน
2.4.6  ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ  ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ (อังกฤษ: Foreign exchange reserves - ย่อ Forex reserves) ความหมายตรงตัวคือ เงินตราต่างประเทศ และ พันธบัตรที่ถือครองโดย ธนาคารกลาง และ หน่วยงานที่ดูแลทางการเงิน  อย่างไรก็ตาม ด้วยความหมายที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนั้น รวมไปถึง อัตราแลกเปลี่ยน,ทองคำ,สิทธิพิเศษในการถอนเงิน (Special Drawing Rights ย่อ - SDRs) และ การจัดอันดับเงินสำรองจาก IMF   
ด้วยความหมายที่กว้างขึ้นนี่เอง จึงมีการใช้คำที่มีความตรงตัวยิ่งขึ้นด้วยคำว่า "ทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ" หรือ "ทุนสำรองระหว่างประเทศ" ซึ่งหมายถึงสินทรัพย์ของธนาคารกลางที่อยู่ในหลายสกุลเงิน โดยมากมักเป็นสกุล เหรียญสหรัฐ รวมไปถึง สกุลเงิน ยูโร ปอนด์สเตอร์ลิง และ เยน   ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นหลักประกัน ได้แก่การผลิตเงินในสกุลของประเทศนั้นนั้น และ เป็นทุนสำรองต่างๆที่ฝากไว้ ณ ธนาคารกลาง โดยรัฐบาล หรือ สถาบันการเงิน
ทุนสำรองระหว่างประเทศมีประโยชน์[1] คือ
- ใช้เป็นทุนสำรองเงินตราส่วนหนึ่ง
- ใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับชำระเงินให้กับต่างประเทศ
- ใช้เป็นทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราประเทศส่วนหนึ่ง เพื่อให้มีเสถียรภาพมั่นคง

ในบางประเทศได้มีการเปลี่ยนทุนสำรองระหว่างประเทศให้ไปอยู่ในการดูแลของกองทุนความมั่นคงแห่งชาติ (Sovereign Wealth Funds) เพื่อนำทุนสำรองดังกล่าวที่มีอยู่มากเกินระดับความต้องการของรัฐบาล ไปลงทุนต่อเพื่อหาผลประโยชน์เพิ่มเติม

สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ รูปแบบการบริหารทุนสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นรูปแบบดั้งเดิมคือเก็บในรูปของสินทรัพย์ที่มั่นคง และมีสภาพคล่องสูง ส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ทางการเงินในตลาดเงินที่ให้ผลตอบแทนคงที่ หรือในรูปของเงินฝากธนาคารพาณิชย์ เป็นสินทรัพย์ระยะสั้น[1] ส่วนทางด้านการจัดตั้งกองทุนความมั่นคงแห่งชาตินั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาของกระทรวงการคลัง

กล่าวโดยสรุป  หากดุลการชำระเงิน  (ข้อ 2.4.5) เกินดุลหนี้สินของประเทศก็ลดลง  มีเงินทุนสำรองมากขึ้น  หากขาดดุลก็จะทำให้ต้องไปชำระหนี้สินของประเทศมากขึ้น  เงินทุนสำรองก็ลดลง
3. รายได้  (National Income)  หมายถึง  ผลตอบแทนปัจจัยการผลิต  ซึ่งประกอบด้วย
3.1  ที่ดิน      ผลตอบแทน  คือ  ค่าเช่า
3.2  แรงงาน  ผลตอบแทน  คือ  ค่าจ้าง
3.3  ทุน        ผลตอบแทน  คือ  ดอกเบี้ย
3.4  ผู้ประกอบการ  ผลตอบแทน  คือ  กำไร
ปัจจุบัน  แรงงานไทยมีอยู่ในระบบ  ประมาณ 11 ล้านคน    และอยู่นอกระบบประมาณ 21 ล้านคน  ซึ่งไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ  (เช่น  ประกันสังคม)  จึงเป็นที่มาการกำหนดมาตรการการดูแลโดยใช้ระบบบัตรทอง (30 บาท)   กลุ่มคนเหล่านี้  ไม่มีบำเหน็จ  บำนาญ   เป็นที่มาของภาครัฐ  ที่จะต้องมีการออกกฎหมาย  “การออมเงินแห่งชาติ”  หรือ  กบช.

คนต่างจังหวัด  กับคนเมือง   มีตัวเลขแสดงถึงความเหลื่อมล้ำที่ระดับ 13 เปอร์เซ็นต์  (ที่มาจาก : สศช.)
คนรวยสุด 20 เปอร์เซ็นต์แรก จะครอบครองสินทรัพย์ที่ระดับ 60 เปอร์เซ็นต์
คนจนสุดจะครอบครองสินทรัพย์เพียง  5 เปอร์เซ็นต์

คนที่มีบัญชีเกิน 50 ล้านบาท  มีประมาณ 7,000 บัญชี  หมายถึง  ผู้ที่มีภาระเสียภาษีในระดับสูงสุดที่ 37 เปอร์เซ็นต์  ตามกรอบสูงสุดของประเทศมีเพียงเท่านี้  เป็นที่มารายได้เข้ารัฐมี่จำนวนน้อย  คนชั้นกลาง  คือ  ผู้แบกรับภาระภาษีเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ
โจทย์ที่สำคัญที่สุดของทุกประเทศ  (โดยเฉพาะประเทศไทย)  จึงอยู่ที่ว่า  ทำอย่างไรจึงจะลดความเหลื่อมล้ำ  และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของคนจน  หรือคนยากไร้ 

ในทางเศรษฐศาสตร์  ประเด็นความเหลื่อมล้ำหรือความยากจน  เป็นที่มาของความขัดแย้งในสังคมที่แท้จริง  ไม่ใช่ประเด็นหรือปัญหาทางการเมืองแต่อย่างใด (เช่น พรรคการเมืองโกงกิน  ทะเลาะกัน  ขัดแย้งกัน  เหล่านี้ไม่ใช่ประเด็นที่แท้จริง  หรือประเด็นหลัก)   นโยบายภาครัฐ  ที่เกิดขึ้นจากพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง  จึงพยายามที่จะตอบโจทย์ให้แก่คนเหล่านี้  ว่าเขาจะได้ผลตอบแทนอะไรบ้างจากนโยบายเหล่านี้  ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม  เช่น  การลดภาษีรายได้  หรือภาษี VAT การรักษาพยาบาล (การเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาล) กองทุนหมู่บ้าน (การเข้าถึงแหล่งเงินกู้)  เป็นต้น

เศรษฐศาสตร์มหภาค  คือ  ตัวชี้วัดสุขภาพของประเทศ  เพราะในทางเศรษฐกิจ  กลุ่มนายทุนกับผู้ประกอบการ  คือ  ผู้ที่ได้รับผลตอบแทนมากที่สุด  และวิชาว่าด้วย  “เศรษฐศาสตร์การเมือง”  พึ่งจะเริ่มมีการจัดสอนกันอีกครั้งหนึ่งในประเทศไทย  เมื่อห้าปีที่ผ่านมา  (นับแต่ปี 2548)

การแทรกแทรงตลาดของรัฐบาล  ทำให้เกิด
1.  ความไม่สมบูรณ์ของตลาด  เกิดจากตลาดมีการผูกขาดขึ้น  เช่น  ตลาดเงิน  น้ำมัน  เหล้า  เครื่องดื่ม   ปัจจัยการผลิต  ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี  จึงมีคำกล่าวที่ว่า  “การเข้ามาของรัฐ  คือ  การหาที่ยืนให้กับผู้แพ้” 
2.  ความล้มเหลวของตลาด  (การเข้ามาของภาครัฐ)  รัฐจำเป็นต้องมีกรอบ  คือ  ต้องไม่เข้ามาทุกเรื่อง  เพราะจะทำให้ก้าวไปสู่  Fail State  หรือ  รัฐที่ล้มเหลว   คือ  รัฐไม่สามารถทำให้รัฐเกิดความสงบ (ในทางตลาด) ได้  หรือการรักษาความเรียบร้อยในสังคมได้   ลักษณะของสินค้าในตลาด  ที่รัฐเข้ามาเป็นผู้ทำเอง  ประกอบด้วย
2.1  สินค้าสาธารณะ (Public Goods)  คือ  การป้องกันประเทศ  รัฐจะเป็นผู้ทำทั้งหมด  การรักษาความสงบ  การรักษาความยุติธรรม  ตลอดจนการกำหนดระเบียบสังคม  การบังคับใช้กฎหมาย
2.2  สินค้าที่มีคุณประโยชน์ต่อสังคม (Merit Goods)  คือ  เป็นหน้าที่หลักของรัฐ  โดยอาจจะให้ภาคเอกชนดำเนินการ  แต่รัฐต้องเป็นผู้กำหนดค่าบริการ  เช่น  การศึกษาและการสาธารณสุข
2.3  สินค้าที่มีผลกระทบภายนอก (Externalities)  คือ  เป็นการลดต้นทุนจากภายใน  โดยการกระทำของรัฐ  เช่น  ระบบสาธารณูปโภค  ได้แก่  ไฟฟ้า  ประปา    คือสินค้าที่รัฐจัดให้  เป็นที่มาของรัฐที่ต้องเข้ามาดูแลระบบสาธารณูปโภค
2.4  สินค้าที่มีต้นทุนที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้  เช่น  สัมปทานต่าง ๆ
3.  การกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ  ด้วยมาตรการทางการคลัง  และมาตรการทางการเงิน
4.  การแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้  ผ่านนโยบายภาครัฐ  เช่น  การประกันราคาข้าว
5.  การแก้ไขปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ  ให้เกิดความมั่นคงในระยะยาว  และไม่ให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น

เครื่องมือของภาครัฐ
1.  นโยบายทางการเงิน  ดูแลโดย  ธนาคารแห่งประเทศไทย  ประกอบด้วย 
1.1  การกำหนดอัตราดอกเบี้ย 
1.2  การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา 
1.3  การกำหนดปริมาณเงินในตลาด
2.   นโยบายทางการคลัง  ดูแลโดย  กระทรวงการคลัง
2.1  มาตรการทาง “ภาษีอากร”  ทั้งทางตรง (ภาษีเงินได้บุคคล-นิติบุคคล-เฉพาะ) และทางอ้อม (VAT)  วัตถุประสงค์  เพื่อหารายได้เข้ารัฐ  สร้างเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ  (ไม่ให้เกิดเงินเฟ้อมากเกินไป)  ส่งเสริมให้เกิดการลงทุน  และสร้างข้อจำกัดการบริโภคที่มากเกินไป   นโยบายหลัก ๆ ที่ใช้  ได้แก่  นโยบายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ  นโยบายเพื่อการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ  (เศรษฐกิจเติบโต  ขณะเดียวกันเงินเฟ้อต้องไม่สูงเกินไป)
2.2  มาตรการ  “รายจ่ายรัฐบาล”  ผ่านการตั้งงบประมาณแผ่นดิน (ขาดดุล เกินดุล สมดุล)  เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ  และการจ้างงาน

งบประมาณแผ่นดิน  ที่จะส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี  จะต้องมีสัดส่วนของงบประมาณในส่วนของการลงทุนที่ระดับ 25 เปอร์เซ็นต์  ต่องบประมาณรายจ่ายทั้งปี  ซึ่งในปัจจุบัน  ประเทศไทยมีระดับของงบลงทุนที่ประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์  ต่องบประมาณรายจ่าย   ประเด็นดังกล่าว  จึงส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2554  ชะลอตัว
ตัวอย่าง   นโยบายของภาครัฐ 
นโยบายในการเพิ่มรายได้ของประชาชน  คือ  เช็คช่วยชาติ  (ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมา)  การประกันรายได้เกษตรกร
นโยบายลดรายจ่าย  คือ  การตรึงค่าก๊าซ  ตรึงค่าน้ำมันดีเซล
นโยบายเพิ่มโอกาส  คือ  การฝึกอาชีพ  การเรียนฟรี
นโยบายการเข้ามาอุดหนุนของภาครัฐ  เช่น  การแทรกแทรงการแข็งค่าของเงินบาท
นโยบายการกระจายโอกาส  เช่น  การงดค่าบริการการศึกษา  การยกระดับสถานีอนามัยตำบล

1.3  การก่อหนี้สาธารณะ  (การกู้ยืมเงิน)
1.3.1  การกู้ยืมภายในประเทศ  มีขอบเขตของเงินกู้ที่ชัดเจน  (เรียกอีกอย่างว่า วินัยทางการคลัง)  จาก พรบ.เงินคงคลัง พ.ศ....  อนุญาตให้รัฐบาล  กู้ได้ไม่เกิน  20 เปอร์เซ็นต์  ของงบประมาณรายจ่าย   และอีก 80 เปอร์เซ็นต์  ของต้นเงินกู้   หมายถึง  สามารถรีไฟแนนซ์เงินกู้ได้  ปัจจุบัน  สัดส่วนของหนี้สาธารณะประเทศไทย (เงินกู้-ที่รัฐบาลกู้ยืมมาใช้จ่าย)   อยู่ที่ 45.5  เปอร์เซ็นต์  ต่อ GDP  (2553)  โดยมาตรฐาน   จะต้องไม่เกิน  50  เปอร์เซ็นต์  ต่อ GDP  เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศในระยะยาว  ประเด็นข้างต้น  จึงเป็นที่มาของการยกเลิกโครงการไทยเข้มแข็ง 2  (กลางปี 2553) 
1.3.2  การกู้ยืมจากภายนอกประเทศ  ต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์  ของงบประมาณรายจ่าย
นโยบายการกู้ยืมเงินของรัฐบาล
1.)  ต้องกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุน  การพัฒนา (โครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ)  ห้ามกู้ยืมเงินเพื่อการบริโภค   ดังนั้น  ภาษีอากร  จะต้องควบคุมรายจ่ายประจำไปพร้อมกัน 
2.)  ต้องเป็นการกู้ยืมเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลัง  มิให้เกิดเงินเฟ้อสูงเกินไป  หรือส่งผลกระทบต่อวินัยทางการคลัง   การชำระเงินกู้  ต้องไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์  ของงบประมาณรายจ่าย
การกู้ยืมเงินของภาครัฐ  จะต้องกระทำผ่าน
พรบ.วิธีการงบประมาณรายจ่ายประจำปี  พ.ศ....
พรบ.เงินคงคลัง พ.ศ. .......
พรบ.สถาบันการคลัง พ.ศ..............
พรบ.การกู้เงินต่างประเทศ พ.ศ. .......
กรณีการใช้  “มาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบ”  ให้กับคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์สามารถมีบ้านได้ (Sub Prime) ของสหรัฐอเมริกา โดยให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อ  และให้มีการขาดดุล 2 แห่ง  คือ  ในตัวงบประมาณแผ่นดิน  และดุลบัญชีเดินสะพัด  (กฎของ IMF อยู่ที่ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งสองบัญชี   แต่สหรัฐอเมริกาปล่อยให้เกิดขึ้นได้ถึง  10  เปอร์เซ็นต์

สหรัฐอเมริกา  เป็นประเทศเดียวที่สามารถผลิต  “เงินหรือปั๊มแบ็งค์”  ได้ (แต่ต้องผ่านเป็นร่างกฎหมายทางรัฐสภาและประกาศใช้  โดยล่าสุด 21 ก.ค. 2554 อยู่ระหว่างการต่อรองอีกครั้งของ ปธน.โอบามา  กับฝ่ายริพับริกัน)  โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ทองหรือเงินสำรอง)  นับแต่ทศวรรษปี 1970  เป็นต้นมา  (สมัยรัฐบาลนิกสัน)  เนื่องจากค่าเงินของโลกโดยรวม  ผูกติดที่ค่าเงินดอลลาห์สหรัฐ

ตลอดสามปีที่ผ่านมา  (นับแต่ปลายปี 2551)  ได้มีการอัดฉีดเงินโดยสหรัฐอเมริกา  เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน  (เรียกว่ามาตรการ QE – ปัจจุบัน QE2 พึ่งสิ้นสุดไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 – และคาดว่าอาจจะมีการทำ QE3 อีกครั้งหนึ่ง ในช่วงปลายปี 2554)  เงินอัดฉีดดังกล่าว  จึงไหลบ่ามาประเทศทางแถบเอเชีย   จึงส่งผลให้เกิดการแข็งค่าของค่าเงินในแถบเอเซียไปพร้อม ๆ กัน  (เช่น ไทย  ญี่ปุ่น) 

ลักษณะของการแข็งค่าดังกล่าว  จะส่งผลดีต่อประเทศไทย  แต่จะต้องค่อยเป็นค่อยไป  หากยังไหลมาต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม  เช่น  การส่งออก

และยังมีเหตุผลมาจากการที่  “จีน”  หันมาลงทุนในตลาด พันธบัตรของญี่ปุ่น  และเกาหลี  เพิ่มมากขึ้น
หากจะมีการแก้ไข  ก็ต้องแก้ไปที่เรื่องของ  “สภาพคล่องทางการเงิน”  ของกลุ่มธุรกิจ  SME  ผลดีที่ตามมาของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
1.)  ราคาน้ำมัน  มีค่าการนำเข้าที่ถูกลง
2.)  ราคาทองไม่สามารถทะลุขึ้นไปถึง 2 หมื่นบาทได้ (ณ ปี 2553) 
แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบัน  ราคาทองที่ผ่านหลัก 2 หมื่นบาทแล้ว  และมีแนวโน้มจะแตะที่ 23,000.- บาท  จึงหมายความว่า  ภาวะค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง  และความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของอนาคตที่ยังอึมครึมอยู่ในปัจจุบัน  (โดยเฉพาะหนี้ในยุโรป)  ชาติต่างๆ  จึงหันมาสะสมทองคำกันมากขึ้น  
และปัจจัยสำคัญที่สุดที่กำลังจะตามมา  คือ  การที่รัฐบาลสหรัฐพยายามจะก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น (หรือการทำ QE3) ซึ่งจะส่งผลให้ดอลล่าห์อ่อนค่ามากขึ้น  และความต้องการทองคำในตลาดโลกจะมากขึ้น  โดยเฉพาะประเทศจีน  (ณ วันที่ 21 ก.ค.2554) 

ภาพประกอบ : จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 ก.ค. 2554
 
หมายความว่า  ราคาทองในตลาดโลกจะทวีค่ามากยิ่งขึ้น   เนื่องมาจากการสะสมทองคำของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่จะดำเนินไปพร้อม ๆ กัน
3.)  การท่องเที่ยวต่างประเทศมีราคาถูกลง  แต่ส่งผลกระทบ คือ คนไทยจะไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น
4.)  เครื่องจักรต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิต  จะมีราคาถูกลง  (แต่กำลังการผลิตของประเทศไทยในปัจจุบัน  มีเพียงแค่ 62 เปอร์เซ็นต์  หมายความว่า  การลงทุนในเครื่องจักร  หรือในฐานะผู้ผลิตมีน้อย  ไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน คือ 70 เปอร์เซ็นต์)

จบสำหรับเซ็คชั่นนี้ – โอกาสหน้ามีข้อมูลใหม่จะมานำเสนอต่อ  ขอบคุณครับ