วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ถามตอบเรื่องมอบหมายงาน-แตกต่างที่ความอาวุโส แต่ตำแหน่งไม่แตกต่างกัน

นายสุรศักดิ์ อัครอารีสุข
173 ถนนนครราชสีมา ดุสิต กรุงเทพฯ 10300
e-mail : surasakdota@crownpropertydotordotth
surasak_cpb@yahoo.com
surasak_cpb@hotmail.com
http://surasak-akkaraareesuk.blogspot.com/

สุรศักดิ์ อัครอารีสุข มีประสบการณ์และคลุกคลีในงานด้านนโยบายและแผน และงานด้านการจัดการองค์กรมามากกว่า 10 ปี เป็นผู้ให้คำปรึกษาในการจัดทำโครงการแก่ผู้บริหารโครงการขององค์กร

จากตอนที่แล้ว  ที่ผู้เขียนได้นำเสนอประเด็นปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นได้  ในกรณีผู้ที่พึ่งได้รับการส่งเสริมจากองค์กรให้เป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารในองค์กร  ถึงแนวทางที่ตัวเราน่าจะนำมาใช้ในการบริหารจัดการตัวลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา  ซึ่งในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงกรณี  “ลูกน้องของเรามัวไปสนใจงานอื่น”  จนลืมงานที่เราในฐานะหัวหน้าได้มอบหมายไปนั้น ว่าเราควรจะทำอย่างไร

ในตอนนี้  ผู้เขียนจึงขอนำเสนออีกประเด็นหนึ่ง  ซึ่งถือเป็นประเด็นที่อาจจะสร้างความลำบากใจในตัวผู้ที่มีแววว่าจะได้รับการโปรโมทจากองค์  แต่ยังไม่ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ  โดยที่ตนอาวุโสกว่าในเรื่องของอายุงาน  ประสบการณ์  และความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ขององค์กร  แล้วเขาจะทำอย่างไร   เราลองมาดูคำถามและคำตอบที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปครับ

คุณเก๋ (นามสมมติ) / คำถาม :  ตัวผมยังไม่มีคำสั่งหรือหนังสือแต่งตั้งเป็นหัวหน้าภายในองค์กรที่ทำงานอยู่  แต่ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลงานในฐานะหัวหน้าทีมเท่านั้น  ถ้าในสถานะของผมตอนนี้  คุณมีข้อแนะนำเพิ่มเติมในการบังคับบัญชา  การติดตามงาน  การมอบหมายงานในฐานะหัวหน้าหรือไม่ครับ  คุณมองว่าในสถานะนี้ผมสามารถทำได้หรือไม่ครับ   (ตอนนี้ผมมีตำแหน่งเดียวกัน  แต่ผมมีอาวุโสในเรื่องของอายุตัว  อายุงาน  ประสบการณ์ในงาน  และได้รับมอบหมายจากหัวหน้าของหน่วยงานให้เป็นหัวหน้าทีม  และได้รับการวางตัวให้เติบโตเป็นผู้บริหารในองค์กรต่อไป  ซึ่งทุกคนรับทราบในข้อนี้อย่างเป็นทางการ)

ผู้เขียน / คำตอบ :  เราสามารถทำได้ครับคุณเก๋ (นามสมมติ) 

เพียงแต่เราต้องค่อย ๆ ทำ  ค่อย ๆ เริ่มต้น  ไม่ต้องรีบร้อนครับ   เพราะปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในทางความรู้สึกในการทำงานร่วมกันในตอนนี้  ก็คือ  ความเป็นเพื่อน  ที่มีมาจากอดีตก่อนนั่นเอง   แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะทำไม่ได้   ขอเพียงเราตั้งใจและมุ่งมั่นกับมันก็พอ  มีปัญหาก็ค่อย ๆ หยิบขึ้นมาแก้ไขครับ  อันไหนที่แก้ไขไม่ได้  เราก็ถือว่าเป็นประเด็นปัญหาที่เราจะต้องหาวิธีการแก้ไขมาใช้ให้ได้ผลในอนาคต  หรือหากแก้ไขไม่ได้จริง   มันก็คือสิ่งที่เราจะต้องอยู่กับมันให้ได้ครับ 

ผมอยากให้คุณเก๋ได้เข้าใจอย่างหนึ่ง  ก็คือ  ตำแหน่งที่แต่งตั้งในองค์กรเป็นเพียง  หัวโขน  เท่านั้นครับ   ปราศจากการมอบอำนาจอย่างเป็นทางการ  ก็ไม่มีความหมายครับ (อันนี้เป็นข้อเท็จจริงเลยครับ)  มีอดีตผู้บริหารจำนวนไม่น้อย และในทุกองค์กร  (โดยเฉพาะในองค์กรราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรเอกชนที่มีขนาดใหญ่  ที่อำนาจจากฝ่ายบริหารกลาง  มักจะเอื้อมลงไปไม่ถึงในระดับการจัดการที่ต่ำลงไปกว่า 3 ระดับ) ที่เรามักจะพบว่ามีคนเหล่านี้เดินเตร่อยู่ในองค์กรอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว  โดยที่ไม่ได้รับมอบอำนาจให้ทำอะไรอย่างเป็นทางการ  หรือเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เคยมีความสำคัญในภารกิจขององค์กรในอดีตจำนวนมาก  ที่ถูกปลดจากตำแหน่งโดยที่องค์กรเองก็ยังไม่ได้มอบหมายอะไรอย่างเป็นทางการ (อาจจะเกิดจากความผิดพลาด  ไม่มีความสามารถ อะไรก็แล้วแต่)  ก็ไม่มีการมอบอำนาจให้ทำอะไร   

ดังนั้น  การที่คุณเก๋ได้มีโอกาสอย่างนี้  ผมมองว่า "เป็นความท้าทาย" ของตัวคุณเก๋อย่างมากเลยนะครับ  นั่นก็คือ  ขนาดยังไม่มีการแต่งตังตัวคุณเก๋อย่างเป็นทางการ  เรายังได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมให้รับผิดชอบงานอย่างจริงจัง  มีเป้าหมายให้พุ่งชน  มีทีมงานให้ใช้งาน  เป็นเหมือนเครื่องมือให้กับตัวเราสามารถหยิบใช้สอยได้  ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่ายินดีและท้าทายตัวเรามากกว่า 

ในที่นี้โจทย์ก็คือว่า  “เราจะทำอย่างไร  ให้เราสามารถที่จะทำงานร่วมกับเขา (คนที่มีฐานะลูกน้องของเรา) ได้  โดยที่เกิดผลงานไปพร้อมกัน”  ผ่านการกำหนดเป้าหมายและการจัดการทีมงานร่วมกันมากกว่า

การมอบอำนาจ ในที่นี้ ผมมิได้หมายถึงว่าต้องเขียนเป็นหนังสือมอบอำนาจอย่างเดียวนะครับ  การมอบอำนาจในที่นี้เราสามารถทำได้จากหัวหน้าของเรา (หัวหน้าของคุณเก๋)  คือ  สามารถทำได้ด้วยวาจา  ก็คือ สามารถกระทำได้โดยคนที่มีอำนาจสูงสุดในหน่วยงานนั้นแหละครับ  คำสั่งของคนใหญ่สุดในหน่วยงานก็ย่อมถือเป็นที่สิ้นสุด

ดังนั้น  คุณเก๋  ก็อาจจำเป็นต้องนำประเด็นเหล่านี้   ไปปรึกษาให้หัวหน้าของคุณเก๋รับทราบ  พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางที่คุณเก๋ (จากบทความตอนที่แล้ว) จะนำมาใช้  และบอกให้หัวหน้าของเราทราบว่า เราจะทำอย่างไร จะทำไปเพื่ออะไร  คาดว่าจะได้ประโยชน์อะไร  เช่น   เพื่อทำให้เขา (ลูกน้อง)  หันมา Focus กับงานที่ได้รับมอบหมายมากขึ้น หรือเพื่อเป็นการฝึกเขาในเชิงบริหารจัดการองค์กร  ยกตัวอย่างเช่น  เพื่อเป็นการฝึกให้เขาสามารถนำเสนองานในเชิงเทคนิคที่รับผิดชอบอยู่  ให้สามารถสื่อสารที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น  กระชับขึ้น  มีประเด็นหรือมีทิศทาง  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเอง (ลูกน้องคุณเก๋) ในเรื่องของความก้าวหน้าในอนาคต   (เพราะงาน  บริหาร  มันก็เหมือนกับความตายแหละครับ  คือ  ไม่มีใครหนีมันพ้น)  

วิธีการอย่างง่ายก็คือ  คุณเก๋   จำเป็นต้องขอให้หัวหน้าของเรา  ได้มอบหมาย  สถานะ  ของตัวคุณเก๋   ให้ทั้งหน่วยงานได้รับทราบอย่างเป็นทางการ  (ก็คือ การมอบอำนาจด้วยวาจา)  ผ่านการประชุมต่าง ๆ ของหน่วยงานสังกัดของเรา  เช่น  เพื่อกำหนดนโยบาย การมอบหมายงาน การสรุปงาน  หรือการติดตามงานประจำเดือนของหน่วยงาน  นั่นหมายความว่า  ถือเป็นการรับรองกลาย ๆ ว่าคุณเก๋ คือ  หัวหน้าอย่างเป็นทางการในอนาคต  และเป็นการที่ได้แสดงให้ทุกคนเห็นว่า  เขา (หัวหน้าของคุณเก๋) ก็มีความต้องการ”  ทีจะให้คุณเก๋ เป็นหัวหน้าในอนาคตนั่นเอง  

และเมื่อหัวหน้าของเรารับรองเรา  ต่อหน้าการประชุมทุกเดือน  (คือ  มอบหมายงานให้เราในฐานะหัวหน้า)  ก็ไม่แปลกอะไรที่เราจะอยู่ในสถานะคนออกคำสั่งต่อจากเขา  ที่ทุกคนก็ต้องพร้อมยอมรับ 

อยากแนะนำว่า อย่าไปยึดติดเรื่องสถานะของตำแหน่งเลยครับ  ประเด็นอยู่ที่ “การมอบอำนาจที่ชัดเจน”  ต่างหาก   ขอให้มีการมอบอำนาจเถอะครับ  เรื่องอื่นเป็นเรื่องที่เราสามารถไปเรียนรู้ในอนาคตได้  เราค่อย ๆ วางแผน  หาแนวทางแก้ไข  ศึกษาหาความรู้เทคนิคการบริหารใหม่ ๆ  เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ  ประเด็นใดที่เรา (หน่วยงานของเรา)  แก้ไขไม่ได้  ก็ถือเป็นประเด็นปัญหา  ที่เราจะต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ให้ได้  (ซึ่งก็คือ การปรับตัวนั่นเอง) 

หากตำแหน่งหัวหน้าในแต่ละองค์กรมีจำนวนมากหรือน้อยเพียงใด  มีการระดับก็ตาม   แต่หากไม่มีการกำหนด   “อำนาจการอนุมัติ”  หรือ  “ความรับผิดชอบในการสั่งการเรื่องใด ๆ”   ก็คงไม่ทำให้สถานะตำแหน่งเหล่านั้น  มีความแข็งแกร่งขึ้นหรือความน่ายำเกรงขึ้นต่อบุคลากรในองค์กรได้แต่อย่างใด    .....เพื่อให้ชัดเจนขึ้น   ก็อำนาจในการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี  เพื่อขึ้นเงินเดือน  หรือเพื่อการเลื่อนระดับบุคลากรในองค์กรที่เราก็ต้องเจอกับตัวเองด้วยไงครับ

ประเด็นทั้งหมดนี้ ผมขอยังไม่ไปกล่าวถึงเรื่องการวางตัวของเรา ว่าน่าเคารพนับถือเพียงใด การมีภาพลักษณ์ที่ดี  การมีความรู้ที่จะถ่ายทอด  หรือสอนงาน  ฯลฯ  จึงจะก้าวไปสู่การเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารที่ดีขององค์กรนะครับ  อันนี้ให้เป็นเรื่องที่เราจะต้องค่อย ๆ เรียนรู้  ฝึกฝน  และต้องมีการนำมาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิผลต่อหน่วยงาน ต่อทีมงาน  และต่อตัวเราเองต่อไปในอนาคตครับ

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ถามตอบเรื่องมอบหมายงาน-เราจะทำอย่างไรเมื่อลูกน้องของเราไปสนใจงานอื่น

นายสุรศักดิ์ อัครอารีสุข
173 ถนนนครราชสีมา ดุสิต กรุงเทพฯ 10300
e-mail : surasakdota@crownpropertydotordotth
surasak_cpb@yahoo.com
surasak_cpb@hotmail.com
http://surasak-akkaraareesuk.blogspot.com/

สุรศักดิ์ อัครอารีสุข มีประสบการณ์และคลุกคลีในงานด้านนโยบายและแผน และงานด้านการจัดการองค์กรมามากกว่า 10 ปี เป็นผู้ให้คำปรึกษาในการจัดทำโครงการแก่ผู้บริหารโครงการขององค์กร

2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสให้คำแนะนำ ในเรื่องของแนวทางในการมอบหมายงานให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา แก่เพื่อนต่างองค์กรท่านหนึ่ง คำแนะนำดังกล่าวจะมีลักษณะที่เป็นประเด็นปัญหาเรามักจะพบเห็นได้อยู่ทั่วไป อันสืบเนื่องมาจากที่เขาได้พึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้างานใหม่ในองค์กร

ลักษณะของปัญหานี้ มักจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอกับผู้ที่พึ่งเป็นหัวหน้างาน และผู้เขียนก็จะได้รับคำถามในลักษณะนี้ค่อนข้างบ่อย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าในบางประเด็นที่ได้ให้คำแนะนำไป ก็น่าที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน รวมถึงน้อง ๆ คนทำงานรุ่นใหม่ ที่อาจจะยังไม่มีประสบการณ์ในเชิงบริหาร (ซึ่งก็คือ การที่เรารู้จัก “กำหนดเป้าหมายและวิธีการจัดการคน” นั่นเอง) ก็สามารถนำไปปรับใช้งานได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ให้ไปนั้น ผู้เขียนก็ได้กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ของตนเอง รวมทั้งแนวคิดที่มาจากผู้รู้ผู้ที่มีความชำนาญ มาผสมผสานเพื่อให้เป็นมุมมองที่ชัดเจนต่อตัวผู้มาขอคำปรึกษาดังกล่าว ต่อไปนี้จะเป็นลักษณะของคำถามคำตอบที่ผู้เขียนได้ใช้ไป โดยปรับเปลี่ยนตัวละครเล็กน้อย เราลองมาดูกันครับ

คุณเก๋ (นามสมมติ) / คำถาม ผมอยากสอบถามหน่อยนะครับว่า ในกรณีที่คุณจะต้องมอบหมายงานให้ลูกน้องทำงานไม่ว่าชิ้นใดก็ตาม แล้วปรากฎว่าเขาบอกว่ามีงานเยอะ คุณจะทำอย่างไรครับ ข้อมูลเพิ่มเติมของคำว่างานเยอะก็คือ
1. ชอบสนใจงานของคนอื่นๆ ทำให้ไม่มีเวลาในการทำงานของตัวเอง
2. งานที่ต้องมอบหมายให้ทำเป็นงานเฉพาะด้านทางเทคนิคซึ่งตัวคุณเองก็ไม่มีความรู้

ตัวผู้เขียน/คำตอบ มีคำกล่าวคม ๆ ที่ว่า “หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของหัวหน้า คือ การสื่อสารกับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยการประชุม” ในตำราสมัยใหม่ เขามักจะไม่ให้เรียกคำว่า “ผู้ใต้บังคับบัญชา” แต่จะนิยมให้เรียกว่า “ลูกน้อง” โดยอ้างว่าหมายถึง “ลูก” และ “น้อง” ของเรา แต่ในมุมมองผมความสัมพันธ์ของคนภายในองค์กร มักจะหนีคำว่า “ผู้ใต้บังคับบัญชา” กันไม่พ้นหรอกครับ ไม่ว่าเราจะกำหนดคำที่ใช้เรียกว่าอะไรก็ตาม

ในประเด็นของคุณเก๋ (นามสมมติ) อาจจะใช้แนวทาง “การประชุมเพื่อสื่อสารประเด็นต่าง ๆ” เข้ามาใช้  คือ  มีวัตถุประสงค์เพื่อ “หารือ สื่อสาร กำหนดงาน มอบหมายงาน แบ่งงาน ติดตามความก้าวหน้าของงาน ”  กับผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน เช่น เรากำหนดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนได้ทราบเลยว่า ในทุกวันจันทร์ เราจะมีการประชุมแผนกกัน ซึ่งการประชุมกันครั้งหนึ่ง ก็ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงหรือ 45 นาที (บอกให้เขาทราบอย่างชัดเจน) และบอกให้เขาทราบด้วยว่าเราจะพูดกันทั้งหมดกี่ประเด็นในวันนี้ (ไม่ควรเกิน 4 ประเด็น ต่อการประชุมหนึ่งครั้ง เพื่อความกระชับของการประชุมแต่ละครั้ง) และที่สำคัญ....เราต้องเป็นคนคุมประเด็นและระยะเวลาการประชุมไม่ให้แตกออกไป

ก่อนประชุมจะเสร็จสิ้นลงทุกครั้ง ต้องมีการสรุปกันว่า ในวันนี้ (ที่ประชุมกัน) เราคุยกันแล้วได้ข้อสรุปในแต่ละประเด็นอะไรบ้าง ใครเป้นผู้รับผิดชอบ ทำไมคนนั้นจึงต้องรับผิดชอบเรื่องนั้น ทำไมจึงต้องแบ่งงานกันออกมา ทำไมจึงต้องมีการติดตามกันทุกสัปดาห์...ฯลฯ เพื่อป้องกันมิให้หลังจากแยกย้ายกันไปแล้ว ไปดำเนินการผิดพลาดเพราะตลอดการประชุมที่ผ่านมาไม่มีสมาธิในการฟังเพียงพอ

พูดมาตั้งนาน คุณเก๋ อาจจะมองว่ายังไม่เข้าประเด็นที่ถาม แต่จริง ๆ แล้ว มันอยู่ในขั้นตอนเหล่านี้นั่นแหละครับ

ยกตัวอย่าง ในกรณีที่เขาชอบสนใจงานของคนอื่น ๆ ทำให้ไม่มีเวลาของตัวเอง คุณเก๋ ก็ใช้การติดตามงานให้มากกว่าปกติ อาจจะเป็น 2 ครั้งต่อสัปดาห์ พร้อมทั้งบอก “เป้าหมาย” ในการติดตามแต่ละครั้งให้เขาทราบว่า ต้องการให้เขาส่งงานอะไรบ้าง ภายในระยะเวลาเมื่อไร ผลงานที่เราต้องการคืออะไร (เกณฑ์ Time, Cost and Quality) เพื่อใช้เป็นเทคนิคการประชุมติดตามงานในแผนก ให้ทุกคนต้องนำเสนอผลงานภายในระยะเวลาที่กำหนด หากเขาส่งไม่ได้ เขาจำเป็นต้องชี้แจงเหตุผล เพื่อที่เราในฐานะหัวหน้า จะได้ค่อย ๆ เข้าไปหาหนทางช่วยเขาเนื่องจากเขาทำงานไม่เสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งย้ำให้เขารับทราบและตระหนักว่า เขาจะต้องส่งงานภายในระยะเวลาใดนั้น ก็เพื่อนำเสนองานให้แก่ “หน่วยงานของเรา” (เป็นภาพรวมขององค์กร เพื่อให้เขาตระหนักถึงความสำคัญ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องให้ระยะเวลาแก่ตัวเขาพอสมควร อาจจะเป็น 6 เดือน ถึงหนึ่งปี จึงจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้) และที่สำคัญการติดตามในลักษณะนี้ จะทำให้เขาไม่มีเวลาไปยุ่งกับงานของคนอื่น ข้อสำคัญที่สุด คือ เขาจะรู้สึกว่าตัวเขา หรืองานของเขามีความสำคัญมากขึ้น เพราะมีหัวหน้าติดตามงานตลอดเวลา (คือ เป็นไปได้หรือไม่ครับว่า เราอาจจะยังติดตามงานที่มอบหมายให้เขาน้อยเกินไป)

คุณเก๋ ต้องจำไว้เลยว่า “มนุษย์เราทุกคน ล้วนแล้วแต่อยากเป็นคนสำคัญ” การมีหัวหน้างานของเขามาคอยติดตามเป็นระยะ เป็นจังหวะเวลา มีเป้าหมายที่ชัดเจน ย่อมทำให้เขาค่อย ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของงานที่ได้รับมอบหมาย

ส่วนเรื่องงานด้านเทคนิค ในประเด็นที่สองที่ถามนั้น ที่บอกว่าเราไม่มีความรู้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องลำบากแต่ประการใด ก็คือ คุณเก๋ ไม่ต้องให้เขาอธิบายให้เราฟังในเชิงเทคนิคหรอกครับ แต่แน่นอนที่ว่าคุณเก๋ย่อมมีหรือรับทราบเป้าหมายสุดท้ายของงานชิ้นนั้นอยู่แล้ว (คือ งานที่หัวหน้าของเราได้มอบหมายให้เราทำ) ดังนั้น หน้าที่ของคุณเก๋ ก็คือ ให้เขามารายงานความก้าวหน้าของงานที่เราได้มอบหมายไปทำนั้น ให้เราได้รับทราบอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยบอกให้เขารู้ว่า เขาจะต้องรายงานในลักษณะนี้ คือ
เป้าหมาย/วัตถุประสงค์ ในการดำเนินการของงานแต่ละเรื่องนั้น คืออะไร เช่น การทำงานครั้งนี้จะทำให้เกิดผลลัพท์อะไร หรือต้องทำในแต่ละแนวทางที่เขานำเสนอเพราะอะไร กำหนดลิสต์ออกมาเป็น 1 2 3 ......
มีรายละเอียดการดำเนินการ ในแต่ละส่วนโดยสรุปอย่างไร ให้เขาเขียนบันทึกออกมาเป็นประเด็น และโดยสังเขป
ประเด็นปัญหาที่พบ ในแต่ละครั้งมีอะไรบ้าง ทำไมจึงเกิดปัญหาเหล่านั้น เราดำเนินการแก้ไขอย่างไร
แนวทางที่จะดำเนินการขั้นต่อไป คืออะไร

กล่าวโดยสรุป คือ เป็นเหมื่อนกับว่า เราให้เขาทำรายงานส่งเราอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง หรือเดือนละครั้ง (แล้วแต่คุณเก๋) โดยใช้โครงร่างการเขียนรายงานสรุปง่าย ๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ตามที่ผมได้กล่าวไว้ในข้างต้น ซึ่งก็จะเป็นตัวบีบเขาโดยธรรมชาติ ที่เขาจะต้องอธิบายออกมาเป็นภาษาง่าย ๆ (โดยมีเราคอยกลั่นกรองเนื้อหาอีกทีหนึ่ง) เพื่อใช้ในการนำเสนอต่อผู้บริหาร

และคุณเก๋ ก็ให้เขาเซ็นต์เอกสารรายงานนั้นพร้อมกับคุณเก๋ (อาจจะไม่ก็ได้ แล้วแต่เรามีวิธีการที่จะให้เขาได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบงานอย่างไร) เพื่อนำเสนอต่อหัวหน้าของเราอีกทีหนึ่ง และคุณเก๋ ก็อาจจะต้องใช้หัวหน้าของเราให้เป็นประโยชน์ ด้วยการไปหารือกับเขา แล้วบอกว่า ต่อไปนี้จะพาคน ๆ นั้น เข้ามาพร้อมกับคุณเก๋ เพื่อรายงานความก้าวหน้า ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน (ถ้ามีเร่งด่วนอาจทุกวันก็ได้ จนกว่าจะหมดความเร่งด่วน)

และพอเสร็จโครงการหนึ่ง หรืองานหนึ่ง ก็ให้เขารวบรวมข้อมูลเก็บไว้อย่างเป็นหมวดหมู่ เพื่อไว้นำเสนอเป็นข้อมูลในลักษณะพอร์ทโฟลิโอของตัวเขาเอง และทุกครั้งที่เราคุยงานกับเขา ก็บอกให้เขาทราบเสมอว่า ที่ให้ทำอย่างนี้ จะเป็นการบันทึกผลงานของเขาไว้โดยตลอด อันจะเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของเขาในอนาคต (ทั้งหมดนี้ ก้ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรเหมือนกันครับ) ซึ่งสุดท้ายก็หนีไม่พ้น คือ “มนุษย์เราทุกคน ล้วนแล้วแต่อยากเป็นคนสำคัญ” นั่นคือ คุณเก๋ ต้องคอยบอกเขาอยู่เสมอว่า ที่เราทำอย่างนี้ทั้งหมด ก็เพื่อวางเส้นทางในอนาคตให้กับตัวเขา เพื่อความก้าวหน้าในงานของตัวเขาเอง เขาจะได้ทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น และจะทำให้เขาเข้าใจได้ดีขึ้นว่า งานที่สำคัญที่สุด ก็คือ “งานที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าของเขาเอง”

ยังมีคำถามประเด็นครับ แล้วผู้เขียนจะมานำเสนอในตอนที่สอง