หน้าที่สำคัญของฝ่ายบริหาร คือ การสื่อสารด้วยการประชุม (อ้างอิงจาก : หนังสือ Coaching by Story ของคุณเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศรัย)สุรศักดิ์ อัครอารีสุข : surasak_cpb@yahoo.com
มีประสบการณ์และคลุกคลีในงานด้านนโยบายและแผน และงานด้านการจัดการองค์กรมามากกว่า 10 ปี และเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการจัดทำโครงการแก่ผู้บริหารโครงการขององค์กร
ภาพขวา ผู้เขียนกับการลงติดตามความก้าวหน้าโครงการหนึ่ง ในลักษณะของการลงพื้นที่ เพื่อลงไปสัมผัสถึงแนวทางการดำเนินโครงการ ผู้บริหารโครงการ ประเด็นปัญหาที่อาจจะทำให้โครงการล่าช้า และการติดตามภายหลังโครงการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วตามปกติ ผู้เขียนมักจะเรียกผู้ใต้บังคับบัญชาในสังกัดแผนกของผู้เขียนเองมาประชุมกันเป็นประจำทุกสัปดาห์ วัตถุประสงค์การประชุมดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการทบทวนและติดตามความก้าวหน้างานที่ได้มอบหมายไป สอบถามถึงประเด็นปัญหาที่พบ การแก้ไขได้ดำเนินการไปอย่างไรบ้าง การกำหนดหน้าที่ในการมอบหมายงานชิ้นใหม่ ๆ ประจำสัปดาห์ รวมทั้งเป็นการสอนงานต่อผู้ใต้บังคับบัญชาของเราเองไปพร้อมกันการประชุมข้างต้น ถ้าจะให้ดีและมีประสิทธิภาพ ผู้เขียนก็จะนัดประชุมทุกคนในเช้าวันจันทร์ของแต่ละสัปดาห์เลย ผู้เขียนจะกำหนดไปเลยว่าให้ประชุมกันไม่เกิน 30นาที ต่อครั้ง (บอกระยะเวลาให้พวกเขาได้ทราบเลย) รวมทั้ง บอกประเด็นโดยรวมให้เขาทราบว่า เราจะประชุมกันเรื่องอะไรบ้าง (ผู้เขียนคิดว่าไม่ควรเกิน 4 ประเด็น ต่อครั้ง เพื่อให้มองเห็นภาพรวมอย่างง่าย ๆ ให้ง่ายต่อการจดจำ ต่อการมอบหมายงาน และการนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ) ไม่มีการร้องทุกข์กัน ถ้าจะร้องทุกข์ก็ให้มาคุยกันเป็นส่วนตัวภายหลังการประชุมในลักษณะนี้ ผู้เขียนถือเป็น "เทคนิค" ในการสื่อสารกับผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีประสิทธิภาพมากอย่างหนึ่ง เทคนิคการสื่อสารกับลูกน้องด้วยการประชุมนี้ ถือเป็นเทคนิคที่สามารถทำให้การดำเนินงานของเรา (หรือผู้บริหารโครงการ) สามารถบริหารงานในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ ได้อย่างมีมีประสิทธิภาพและปริสิทธิผลมากเลยทีเดียว เพราะจะทำให้เราในฐานะหัวหน้างานหรือหัวหน้าโครงการ มี "เครื่องมือ" ที่ใช้ในการทบทวนและติดตามถึงความก้าวหน้าในงานด้านต่าง ๆ ที่เราได้มอบหมายให้กับทีมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาไปแล้ว สามารถนำประเด็นต่าง ๆ ที่พบมาพิจารณาหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ไปจนถึงการกำหนดเนื้องานและการมอบหมายงานใหม่ ๆ ที่จะต้องมีขึ้น ให้กับทีมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างชัดเจนและรวดเร็วผู้เขียนได้นำเสนอแนวทางการติดตามความก้าวหน้าโครงการ ในเรื่องของการนำเครื่องมือที่เรียกว่า "การประชุม" มานำเสนอในบทความวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางให้แก่ผู้บริหารโครงการหรือหัวน้างานน้องใหม่ทุกท่าน ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากองคืกร หรือพึ่งจะเริ่มต้นรับผิดชอบโครงการใหม่ ๆ ให้มีเครื่องมือที่จะสามารถนำไปใช้ในการติดตามความก้าวหน้าโครงการอย่างง่าย ซึ่งถือเป็นเครื่องมือการติดตามความก้าวนที่มีลักษณะของ "เชิงรุก" ด้วยครับ
รูปแบบการประชุมที่ว่านี้ ผู้เขียนขออนุญาตแบ่งออกเป็น 5 รูปแบบ ซึ่งเป็นการประยุกต์มาจากประสบการณ์ของตัวผู้เขียนเอง ลองพิจารณากันดู ดังนี้ครับ
รูปแบบที่หนึ่ง "การประชุมร่วมกับทีมงานของเรา" วัตถุประสงค์การประชุมในลักษณะนี้ ก็เพื่อกำหนดขอบเขตของงานที่เราจะต้องดำเนินการตามที่ได้กำหนดไว้ในโครงการ และเพื่อการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของโครงการ รวมทั้งเป็น "เวที" ที่ใช้ในการมอบหมายงานให้ทีมงานแต่ละท่านได้รับผิดชอบ อันเป็นการกระจายความรับผิดชอบไปยังทีมงานนั่นเอง
รูปแบบการประชุมในลักษณะนี้ มักจะเป็นช่วงของการเริ่มต้นของโครงการที่ได้มีการดำเนินงานไปแล้ว ในระหว่างดำเนินโครงการ ไปจนถึงการประชุมเพื่อปิดงาน โดยปกติผุ้บริหารโครงการและทีมงานในช่วงก่อนจะเริ่มต้นงาน ก็ต้องมีการจัดประชุมใหญ่ประชุมย่อยกันอยู่แล้ว การประชุมในขั้นตอนนี้จึงถือเป็นช่วงที่ทีมงานทุกคนและหัวหน้าโครงการ ถือเป็นการพูดคุยเพื่อกำหนดกรอบในการทำงานร่วมกัน รวมทั้งสามารถนำมาใช้เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการ (โดยเฉพาะเวลาอยู่หน้างาน) กัน
โดยส่วนใหญ่อาจจะกำหนดให้มีการประชุมกันอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ถ้าเป็นในกลุ่มของผู้รับผิดชอบงานด้านการก่อสร้าง ที่ต้องบริหารหน้างานกันชนิดวันต่อวัน อาจจะมีการประชุมกันทุกวันเลยก็ได้
การประชุมในลักษณะนี้ หัวหน้าทีมหรือผู้บริหารโครงการ จะต้องระจายงานและกำหนดตัวผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน กำหนดช่วงเวลาการกลับมารายงานต่อที่ประชุมอย่างแน่นอน เพื่อความสะดวกในการบริหารเวลาและเนื้องานของทีมงานที่ได้รับมอบหมายไปปฏิบัติ รวมไปถึงการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำหรือผลลัพท์ที่ทีมงานของโครงการต้องการให้เกิดผลในแต่ละเป้าหมาย ซึ่งก็จะรวมไปถึงการรวบรวมประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่พบ กลับมารายงานต่อที่ประชุม เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขอีกต่อหนึ่ง
รูปแบบที่สอง "การประชุมร่วมกับหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง" การประชุมในลักษณะนี้ ก็คือการประชุมร่วมกับบรรดาหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการที่เรากำลังบริหารอยู่ เช่น ผู้รับเหมา (กรณีเป็นงานก่อสร้าง หรืองานปรับปรุงต่าง ๆ) หน่วยงานราชการ คณะทำงาน ไปจนถึงกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือมีส่วนได้เสียในงานโครงการที่เรากำลังบริหารอยู่นี
การประชุมในรูปแบบนี้ เป็นทั้งการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน การพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของโครงการ การประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจต่อผู้ที่มีส่วนได้เสียต่อโครงการนั้น ๆ การประชุมเพื่อชี้แจงสิทธิที่จะได้รับแก่ผู้มีส่วนได้เสีย เป็นต้น
ลักษณะของการประชุม เป็นการประชุมที่มีได้ทั้งขนาดเล็ก (คือประชุมเป็นทีมขนาดเล็ก) หรือเป็นการประชุมขนาดใหญ่ (มีผู้เข้าประชุมจำนวนมากและหลากหลาย) ซึ่งต้องอาศัยความเป็น "ผู้นำ" ของผู้บริหารโครงการอย่างมาก คือ มีความแม่นยำในประเด็นการประชุม สามารถควบคุมการประชุมได้อย่างมีทิศทาง การตัดสินใจที่ชัดเจนและเด็นขาด และต้องถูกต้องด้วย หรือหากมีการตัดสินใจที่ผิดพลาดไปแล้ว ก็ต้องมีความสามารถในการที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางแก้ไขดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว โดยโครงการไม่หยุดชะงัก
การประชุมในลักษณะนี้ อาจจะทำให้ทีมงานได้รับรู้ถึง "แนวทางปฏิบัติใหม่ ๆ" ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินงานครั้งต่อไป หรือทำให้เราได้รับทราบถึงข้อห้ามที่ไม่ควรกระทำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นอีกครั้งอย่างซ้ำ ๆ
รูปแบบที่สาม "การประชุมร่วมกับทีมตรวจสอบโครงการ" โดยปกติโครงการทุกโครงการ ต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่แทนฝ่ายจัดการขององค์กร ลงไปทำหน้าที่ในการติดตามความก้าวหน้าของโครงการ (ในบางองค์กรอาจจะใช้คำว่า "ตรวจสอบ") ทีมงานเหล่านี้ จะทำหน้าที่แทนฝ่ายจัดการขององค์กร คือ เป็นการลงไปติดตามดูว่า เมื่อได้มีการนำนโยบายไปแปลงสู่การปฏิบัติโดยจัดทำเป็นโครงการขึ้นแล้วนั้น ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร เป็นการลงไปประชุมร่วมกับทีมผู้บริหารโครงการในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าว่ามากน้อยเพียงใด ติดขัดปัญหาประการใด หรือมีการดำเนินการจริงหรือไม่ ซึ่งแม้ผู้บริหารโครงการจะต้องมีการประชุมเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าต่อฝ่ายจัดการอยู่แล้วก็ตาม (เป็นเหมือนการตรวสอบคู่ขนานไปพร้อมกัน)
ทั้งนี้ ในเรื่องของการประชุมกับทีมตรวจสอบโครงการนี้ นอกจากทีมที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของฝ่ายจัดการแล้ว ในโครงการที่เป็นขององค์กรขนาดใหญ่ เช่น ภาคราชการ มักจะมีการแต่งตั้ง "คณะกรรมการตรวจรับงาน" ของโครงการเหล่านี้ คณะกรรมการดังกล่าวอาจจะมีจำนวน 3-5 คน (แล้วแต่หลักเกณฑ์ขององค์กรที่ต้องสอดคล้องกับกฎหมายที่กำหนดไว้) จะคอยทำหน้าที่คล้าย ๆ กับทีมตรวจสอบหรือติดตามความก้าวหน้าโครงการที่เป็นต้วแทนจากฝ่ายจัดการขององค์กรด้วย กล่าวคือ หากเนื้องานที่ได้ดำเนินงานไปแล้ว ไปตรงกับขอบเขตหรือเป้าหมายของงานที่ได้กำหนดไว้ กรรมการก็ย่อมไม่อาจตรวจรับงานดังกล่าวได้ (ซึ่งจะส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของโครงการ) โครงการก็จะหยุดชะงักทันที ผลของการลงไปตรวจรับดังกล่าว ก็จะต้องมีการหารือกันระหว่างทีมผู้บริหารโครงการกับคณะกรรมการตรวจรับ ซึ่งหากหาทางออกไม่ได้ ประเด็นดังกล่าวก็จะขึ้นสู่ฝ่ายบริหารขององค์กร ซึ่งก็จะไปสู่ทีมงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอีกทีหนึ่ง
รูปแบบที่สี่ "การประชุมร่วมกับฝ่ายจัดการขององค์การเพื่อสรุปความก้าวหน้า" เมื่อโครงการดำเนินการไปได้แล้วระยะเวลาหนึ่ง ทีมงานของผู้บริหารโครงการก็ต้องเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของงานที่ทีมงานได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการต่อฝ่ายจัดการให้ได้รับทราบถึงความก้าวหน้าดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเห็นชอบในดำเนินการต่อไป เพื่อการขยายผลสำเร็จให้มากขึ้น เพื่อการปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินงานในกรณีที่พบประเด็นปัญหาจนไม่อาจขับเคลื่อนโครงการได้ หรือการกำหนดนโยบายใหม่ ๆ ที่มีผลต่อแนวทางการดำเนินงานของโครงการ เป็นต้น
ในกลุ่มโครงการระยะสั้น ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินงานไม่เกิน 1 ปี เกณฑ์มาตรฐานโดยทั่วไปในการสรุปความก้าวหน้าของโครงการ ก็จะกำหนดไว้ที่เป็นรายไตรมาส ที่ผู้บริหารโครงการและทีมงานจะต้องนำเสนอความก้าวหน้าต่อฝ่ายจัดการขององค์กร ให้ได้รับทราบถึงความก้าวหน้าของโครงการ ประเด็นหลัก ๆ ก็คือ โครงการมีความก้าวหน้าไปอย่างไร (มากหรือน้อย หรือไม่เคลื่อนไหวเลย) ประเด็นปัญหาที่พบและได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว และแก้ไขอย่างไร ประเด็นปัญหาใดที่แก้ไขไม่ได้ ต้องมีการขอรับนโยบายเพิ่มเติม หรือการปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ เพราะปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปจากที่ได้มีการคาดการไว้ก่อนหน้าที่จะดำเนินการ
การประชุมในลักษณะนี้ เป็นเรื่องของทีมงานที่จะต้องจัดทำเอกสารและเตรียมข้อมูล เพื่อนำเสนอต่อฝ่ายจัดการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักจะมีการกำหนดตัวทีมงานกันเลยว่า ใครมีหน้าที่นี้ที่จะต้องรวบรวมข้อมูลผลงานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว การรวบรวมและประมวลข้อมูลก่อนนำเสนอ ก็ต้องทำอย่างเป็นระบบ คือ มีทั้งข้อมูลเชิงตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตหรือความก้าวหน้าที่ชัดเจน (เป็นตารางเปรียบเทียบ กราฟ แผนภูมิ เป็นต้น) ข้อมูลที่เป็นบทสรุปที่แสดงให้เห้นถึงทิศทางอย่างชัดเจนของโครงการ เพื่อง่ายต่อการตัดสินใจของฝ่ายจัดการ คือ ต้องการจะให้ฝ่ายจัดการตัดสินใจอย่างไร เราต้องบอกคำตอบออกมาเลยอย่างชัดเจน (และมีทางเลือกมากกว่าหนึ่งทาง)
พร้อมเหตุผลประกอบว่าทำไมถึงต้องตัดสินใจอย่างนั้น เราใช้ข้อมูลหรือเหตุผลใดมาประกอบการตัดสินใจในครั้งนี้ โดยไม่ต้องไปกังวลว่าเราจะไปบอกคำตอบต่อผู้บริหารว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะการตัดสินใจนั้นเป็นเรื่องของฝ่ายจัดการว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ถ้าเห็นด้วยก็เดินหน้าต่อ และที่ขาดไม่ได้ในปัจจุบัน ก็คือ ภาพประกอบของงานในโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว (ซึ่งในปัจจุบันถือว่าสะดวกมาก) ซึ่งถ้านำเสนอภาพอย่างเป็นหมวดหมู่ของงานแต่ละด้าน แต่ละช่วงเวลา ก่อนและหลังของงานที่ตั้งเป้าหมายไว้ ก็นับว่าสมบูรณ์ในการรายงานเลยทีเดียว
รูปแบบที่ห้า "การประชุมเมื่อปิดโครงการ" ลักษณะการประชุมเช่นนี้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการประชุมร่วมกันทั้งทีมงานของโครงการ กับฝ่ายจัดการขององค์กร ในประเด็นนี้ ผู้บริหารโครงการและทีมงาน (มือใหม่) อาจจะลืมไปบ้าง ในกรณีเมื่อโครงการดำเนินการมาถึงบทสุดท้าย คือ ได้ดำเนินการจนเสร็จสิ้นแล้วและถึงเวลาที่จะต้องเริ่มต้นโครงการใหม่ หรือแยกย้ายกันออกไป จำเป็นที่ทีมงานจะต้องประชุมร่วมกัน ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการทบทวนถึงแนวทางที่ได้ดำเนินการมาทั้งหมด เป็นการมาพิจารณาร่วมกันของทีมงานว่า ผลการดำเนินงานของเรานั้นเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ ทำไมจึงไม่บรรลุเป้าหมาย หรือบรรลุแต่ขาดประสิทธิภาพ เช่น ใช้เวลามากกว่าที่ได้กำหนดไว้ค่อนข้างมาก คือ เกิน 20% ใช้งบประมาณมากกว่าที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้าใช้น้อยกว่าที่ตั้งไว้ก็น่าที่จะมาพิจารณากันถึงการคาดการล่วงหน้าที่ยังไม่ดีพอหรือไม่ และที่สำคัญ คือคุณภาพของงานที่ดำเนินการจนเสร็จสิ้นแล้วเป็นที่พอใจหรือได้เกณฑ์ตามมาตรฐานขั้นต่ำที่เราได้วางไว้หรือไม่ หรือสูงกว่า
การประชุมในลักษณะนี้ จะเป็นเหมือนเครื่องมือ ที่ทำให้เราได้ทบทวนผลการดำเนินงานของตัวเราและทีมงาน ทำให้รับทราบถึงการกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการประเมินว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ เพื่อที่เราจะสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารโครงการใหม่ๆ ต่อไป
ทั้งหมดนี้ ถือเป็นเพียงบางส่วนในเรื่องของเทคนิค "การสื่อสารด้วยการประชุม" ของผู้บริหารโครงการ ที่เราสามารถนำประยุกต์ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของกลุ่มหัวหน้างานใหม่ ๆ หรือผู้ที่เพิ่งจะได้รับผิดชอบในงานโครงการครับ
สวัสดีครับ