วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

บทบาทและหน้าที่ ของผู้บริหารโครงการ

สุรศักดิ์ อัครอารีสุข : surasak_cpb@yahoo.com
ผู้เขียนมีประสบการณ์และคลุกคลีในงานด้านนโยบายและแผนขององค์กร และงานด้านการจัดการขององค์กรมามากกว่า 10 ปี และเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการจัดทำโครงการแก่ผู้บริหารโครงการขององค์กร

ระเบียบวินัย คือ สะพาน ที่เชื่อมโยงระหว่าง “เป้าหมาย” ที่ได้ตั้งไว้ กับ “ความสำเร็จ” ที่เกิดขึ้นจริง

ภาพซ้าย ; ผู้เขียนกับผู้บริหารโครงการ ในการลงไปสัมผัสกับประเด็นต่าง ๆ ในพื้นที่ของโครงการ

ผู้บริหารโครงการ นั้น อาจจะมีการเรียกขานในแต่ละหน่วยงานแตกต่างกันไป อาจจะกำหนดให้เป็นบุคคล หรือหน่วยงานที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารโครงการนั้น ๆ ก็ได้ ซึ่งหัวหน้าหน่วยงานนั้นก็คือผู้บริหารโครงการนั่นเอง บางหน่วยงานก็อาจจะใช้คำว่าผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งบทบาทและหน้าที่ก็ไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด

ผู้บริหารโครงการ มักจะมีคุณลักษณะที่สำคัญและจำเป็นอยู่ในตัวที่คล้าย ๆ กัน คือ มีรูปแบบการทำงานในลักษณะของ Adaptive Work หมายถึง การทำงานที่อาศัยการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ การเรียนรู้แนวทางปฏิบัติใหม่ๆ จากปัญหาที่พบ นำปัญหาที่พบมานิยามเพื่อทำความเข้าใจและใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงงานของทีมงาน

มาในวันนี้ ผู้เขียนจะขอนำเสนอในเรื่องของ บทบาทและหน้าที่ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของผู้บริหารโครงการ สำหรับให้ผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ มาลองเรียนรู้ในลักษณะของความหมายที่เป็นภาพโดยรวมกันดู คือ

การบริหารภาวะผู้นำให้กับทีมงาน โดยนอกเหนือจากที่มีสถานะเป็นผู้นำให้กับทีมงาน ในการที่จะต้องคอยกระตุ้นทีมงานให้ตอบสนองไปยังเป้าหมายของโครงการอยู่แล้ว ยังรวมถึงการโน้มน้าวใจ หรือการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ทีมงาน ที่จะต้องกล้าเผชิญกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่พบ เผชิญกับภาวการณ์ต่าง ๆ ที่จะทดสอบทีมงานให้ทนต่อแรงเสียดทานจากสภาพแวดล้อมโดยรอบในการประสานงาน ทั้งในทีมงานเองและต่อปัจจัยที่มาจากภายนอกต่าง ๆ ในระหว่างการดำเนินโครงการ

ผู้บริหารโครงการ จึงเป็นเหมือนตัวแทนของฝ่ายจัดการ ที่จะต้องตอบโจทย์ในนโยบายที่ฝ่ายจัดการได้มอบให้ โดยใช้โครงการเป็นเครื่องมือ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย นโยบาย หรือวิสัยทัศน์ ที่องค์กรได้กำหนดไว้

คุณลักษณะที่สำคัญ ของผู้บริหารโครงการจึงควรที่จะต้องมีลักษณะในการบริหารภาวะผู้นำได้ดีไปพร้อมกันด้วย ซึ่งน่าจะประกอบหลัก 5 ประการ ได้แก่

1. ต้องมองภาพรวมของโครงการให้ออก นั่นคือ ในฐานะผู้บริหารโครงการจะต้องมองให้เห็นถึงภาพรวมของโครงการได้ทั้งหมด จะต้องทราบเป็นอย่างดีว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากนโยบายหลักใดขององค์กร เป้าหมายของการดำเนินโครงการในครั้งนี้ตอบโจทย์ทั้งหมดของนโยบายดังกล่าวหรือไม่ มีสิ่งใดบ้างที่โครงการจะต้องดำเนินการให้ครอบคลุมจึงจะบรรลุเป้าหมายในครั้งนี้ได้ มีหน่วยงานหรือใครบ้างที่เราจะต้องดึงเข้ามาร่วมทำงานด้วยกัน ต้องมีความเข้าใจปัญหารวมทั้งพยายามที่จะทำความเข้าใจในปัญหาทั้งหมดของโครงการ และเมื่อเสร็จโครงการนี้แล้วยังต้องจัดทำโครงการใหม่เพิ่มเติมอีกหรือไม่

2. ต้องกระจายความรับผิดชอบไปยังทีมงานให้มากที่สุด เราอาจจะเคยพบเห็นมาไม่น้อย ผู้นำหรือหัวหน้างาน หรือผู้บริหารโครงการ จะเรียกอย่างไรก็แล้วแต่ ที่เมื่อทีมงานไม่สามารถทำงานให้บรรลุผลสำเร็จ หรือไม่อาจทำได้อย่างที่คาดหวังไว้ ผู้นำทีม มักจะดึงงานเหล่านั้นกลับมาทำเอง (เรื่องราวของการมีลิงมาเกาะที่ตัวหัวหน้า) ซึ่งนอกจากจะทำให้งานมาล้นมือผู้นำทีมหรือหัวหน้างานแล้ว ก็จะเป็นการลดทอนศักยภาพในการพัฒนาทีมงานของโครงการไปในตัวด้วย

ผู้บริหารโครงการ จึงควรที่จะต้องกระจายงานต่าง ๆ ของโครงการ ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ในแผนการดำเนินงานไว้อยู่แล้ว ให้ทีมงานได้รับผิดชอบให้มากที่สุด เว้นแต่งานที่มีความจำเป็นเฉพาะตัวจริง ๆ เพื่อเป็นการฝึกให้ทีมงาน ได้เกิดการต่อยอดความคิดในการแก้ไขปัญหา พัฒนาศักยภาพของตนเอง ซึ่งจะต้องอาศัยระยะเวลา การสะสมประสบการณ์ การศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา จึงจะทำให้เกิดความมั่นใจทั้งต่อตัวผู้บริหารโครงการที่ได้กระจายงาน ทีมงานที่ได้รับมอบหมาย และความมั่นใจต่อเป้าหมายที่ได้วางไว้ว่าจะบรรลุอย่างแท้จริง

3. บริหารภาวะอารมณ์ของทีมงาน ในฐานะที่เป็นผู้นำของทีมงาน ผู้บริหารโครงการจึงต้องมีหน้าที่คอยสังเกตความรู้สึกและการตอบสนองของทีมงานด้วย ในบางครั้งทีมงานอาจจะต้องเผชิญความกดดันที่มาจากการประสานงานและสะสมไว้จนกลายเป็นความเครียด จนทำให้งานไม่สามารถดำเนินหน้าไปตามที่ได้กำหนดไว้

การบริหารภาวะอารมณ์ของทีมงาน เป็นเรื่องที่จะต้องทำอย่างเหมาะสม ให้เกิดความสมดุล เพราะหากเราเข้าไปจัดการเรื่องนี้มากเกินไป อาจจะทำให้เกิดลักษณะของการก้าวก่ายความรู้สึก และหากเราพิจารณาเรื่องนี้น้อยเกินไป ก็จะทำให้ทีมงานเกิดภาวะตรึงเครียดในงานที่ได้รับมอบหมายได้

4. มองที่เป้าหมายหลักของโครงการ ผู้บริหารโครงการ จำเป็นที่จะต้องคอยกระตุ้นเตือนให้ทีมงานได้พุ่งเป้าไปสู่ประเด็นที่เราได้กำหนดไว้เป็นเป้าหมายหลักของโครงการอยู่เป็นระยะ เพราะในระหว่างที่โครงการกำลังดำเนินการอยู่ เรามักจะพบประเด็นใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

ประเด็นเหล่านี้ จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนจากเป้าหมายหลักของโครงการอยู่ตลอดเวลา เช่น ในเรื่องของระยะเวลาดำเนินโครงการที่ยาวนาน วิธีการปฏิบัติที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน ความรู้สึกที่ได้รับเมื่อบรรลุเป้าหมายย่อย ๆ ของโครงการได้ จนคิดว่าโครงการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ประเด็นเหล่านี้ จะเป็นผลให้ทีมงานเกิดความรู้สึกที่จะหลีกเลี่ยงงานหลัก (หรือเป้าหมายหลักของโครงการ)

5. ให้ทีมงานได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ในบางครั้ง การบริหารโครงการให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารโครงการในฐานะผู้นำทีม จำเป็นที่จะต้องอาศัยทีมงานที่จะช่วยกันเสริมความคิด ร่วมกันหาสาเหตุของปัญหาที่พบในระหว่างการทำงาน ไปจนถึงการร่วมกันหาทางออกหรือแนวทางแก้ไขปัญหาในงานที่ทีมงานได้แสดงความเห็นร่วมกัน ว่าจะลงมือปฏิบัติกันอย่างไร จะมอบหมายกันอย่างไร และจะป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำขึ้นอีกได้อย่างไร

เป็นเหมือนการร่วมกัน “ระดมความคิด พิชิตปัญหา” ด้วยกัน ในบางครั้งอาจจะทำให้ผู้บริหารโครงการ ได้เรียนรู้ถึงแนวทางปฏิบัติใหม่ ๆ สามารถที่จะนำมาใช้กับงานทีทำอยู่ได้อย่างดียิ่งขึ้น

ดัดแปลงเนื้อหาจากบทความ "ภาวะผู้นำ" ของหนังสือ "หลังกำแพงฮาวาร์ด : เรียนรู้ความเป็นเลิศทางปัญญา” ของ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553

โครงการดูงานแดนลอดช่อง ตอน 2 ประโยชน์ที่เราได้รับในเรื่องของการจัดการชุมชนอยู่อาศัย

สุรศักดิ์ อัครอารีสุข : surasak_cpb@yahoo.com
ผู้เขียนมีประสบการณ์และคลุกคลีในงานด้านนโยบายและแผนขององค์กร และงานด้านการจัดการองค์กรมามากกว่า 10 ปี และเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการจัดทำโครงการแก่ผู้บริหารโครงการขององค์กร

ภาพซ้าย : ลักษณะของลิฟท์ในอาคารที่อยู่อาศัย ที่ผู้เขียนและคณะดูงานได้ไปเยี่ยมชม จะสังเกตเห็นว่าตัวประตูลิฟท์เป็นครึ่งกระจก และมีกล้องวงจรปิด (มุมซ้ายบนเมื่อเราหันเข้าหาลิฟท์)

จากที่ได้กล่าวมาในตอนก่อน ส่วนที่สาม ที่ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง เป็นเรื่องมุมมองในเรื่องของประโยชน์ที่เราได้รับจากโครงการที่เราไปดูงานในครั้งนี้ มีประเด็นที่มากมายพอสมควร ที่ผู้เขียนอยากจะขอมานำเสนอในตอนนี้ จะเป็นเรื่องของปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชน จนประสบความสำเร็จมาจนทุกวันนี้

ประเด็นแรก ที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อความสำเร็จ ก็คือ การสร้างเครื่องมือให้แก่หน่วยงานที่ตนได้จัดตั้งขึ้นมารับผิดชอบงานดังกล่าวได้ใช้งาน ในที่นี้ก็คือการกำหนดเป้าหมาย “การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ” ของตัวประเทศสิงคโปร์เองครับ ซึ่งในปัจจุบันเราอาจจเรียกว่า “วิสัยทัศน์” ของประเทศก็ได้ครับ ประกอบด้วย
- มีนโยบายและการวางแผนการงานที่ชัดเจน รวมทั้งสามารถนำแผนงานที่ได้วางไว้มาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นรับผิดชอบงานด้านต่าง ๆ (องค์กรอิสระภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ-ถ้าในประเทศไทย ตาม กม.ใหม่ ก็คือ องค์กรมหาชน เช่น พอช.) ขึ้นมาบริหาร เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน
- การสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง เช่น การอุดหนุนด้านงบประมาณ และการกำหนดข้อกฎหมายที่ชัดเจน ซึ่งอำนวยความสะดวกต่อผู้ปฏิบัติงาน เช่น กฎหมายการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเมือง (Urban Redevelopment Authority)
- ประสิทธิภาพของ “คณะกรรมการชุมชน” ที่สามารถแบ่งเบาภาระการดูแลโดยตรงจากภาครัฐ


ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็คือเป้าหมายในระยะยาวของประเทศของเขา ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้ทราบอย่างชัดเจนและมีทิศทางว่า อะไรคือความต้องการของประเทศ พวกเขาจะต้องดำเนินการอย่างไร ทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น มีเครื่องมืออะไรบ้างที่จะนำไปใช้งาน (เช่น กม.ต่าง ๆ ระบบคณะกรรมการชุมชน)

สภาพพื้นที่ของชุมชนในปัจจุบันของประเทศสิงคโปร์ คือผลงานที่ได้มีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง และมีระยะเวลาในการพัฒนายาวนานไม่น้อยกว่า 30 ปี (ซึ่งในเนื้อหาที่เขาได้นำมาเสนอในพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เขียนได้เห็น เขามักจะเริ่มต้นประวัติของประเทศเขาที่ปี 1960)

ประเด็นที่สองที่ผู้เขียนพบ ก็คือ ความโดดเด่นในเรื่องของการนำวิสัยทัศน์ไปปฏิบัติเป็นแผนเชิงกลยุทธ์ ก็คือ “การส่งเสริมในเรื่องของทำประชาสัมพันธ์ และการทำความเข้าใจให้แก่มวลชนของประเทศ” ของเขาเอง ซึ่งผู้เขียนได้เคยสรุปไว้ดังนี้ครับ

ความสำเร็จในนโยบายด้านการจัดการ “ด้านที่อยู่อาศัย” ของประเทศสิงคโปร์ นั้น เกิดขึ้นจากการวางกรอบนโยบายและการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาในด้านที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน มีวัตถุประสงค์เพื่อองค์รวมของประเทศ เป็นผลให้ทุกหน่วยงานภาครัฐ อันได้แก่ หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง เช่น HDB URA หรือ Marine Parade Town Council

และหน่วยงานที่คอยให้การสนับสนุน เช่น หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรม (ศาล) สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายได้อย่างชัดเจนและสอดคล้องกัน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ในการ “ประชาสัมพันธ์” เพื่อสร้างความเข้าใจ การยอมรับและความพึงพอใจในแนวนโยบายการพัฒนาที่รัฐได้นำเสนอแก่ประชาชน ให้ประชาชนได้รับทราบถึงความจำเป็นของภาครัฐ ที่จะต้องกำหนดนโยบายการพัฒนาดังกล่าว ออกมาในลักษณะที่ได้นำเสนอให้ประชาชนได้พิจารณาร่วมกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็น “จุดแข็ง” ของประเทศสิงคโปร์ทีเดียว เช่น

ภาพขวา : ลักษณะของห้องแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เขาได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ทั้งโมเดล เรื่องราวอย่างย่อตามลำดับ ห้องจัดฉาย VCD ในรูปแบบของ การรับฟังเสียงประชามติ (Public Hearing) และได้จัดให้ทั้งประชาชนทั่วไป รวมทั้งดึงเอาเยาวชนทุกระดับเข้ามาดู ศึกษา เรียนรู้ เพื่อความเข้าใจในเป้าหมายของประเทศในสิ่งที่ได้ทำไป

1.) การนำเสนอ ขั้นตอนของการเริ่มต้นการพัฒนา หน่วยงานผู้รับผิดชอบร่วมกันในการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) โดยเป็นการทำประชาพิจารณ์ในลักษณะ เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชน เพื่อนำมาร่วมกันพิจาณาและกำหนด “ทางเลือก” ในการพัฒนาที่เหมาะสม รวมทั้งต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายของประเทศมากที่สุด (มีการทำเป็นภาพยนตร์ VCD ให้ดูเข้าใจง่าย สอดแทรกนโยบาย วัตถุประสงค์และความจำเป็นในการพัฒนาของประเทศได้อย่างชัดเจน จัดฉายและเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมอย่างทั่วถึง ณ สำนักงานใหญ่ของ URA)

2.) การกำหนดให้มีหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่คอยให้ข้อมูลแก่ประชาชน ในลักษณะข้อเท็จจริงเชิงเปรียบเทียบ สอดคล้องกับสภาวการณ์ของประเทศ เป็นลักษณะ “พิพิธภัณฑ์หรือจัดนิทรรศการ” เช่น URA HDB เป็นต้น ทำให้ให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าร่วมชมอย่างอิสระ ร่วมรับฟังถึงแนวนโยบายในการพัฒนาของภาครัฐ ได้รับทราบถึงวิสัยทัศน์ของประเทศ

ทั้งในรูปแบบการสร้างสื่อ “ภาพยนตร์” ที่เป็นตัวแสดงข้อมูลให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยของประเทศ ลำดับเหตุการณ์ในการพัฒนา การจัดทำข้อมูลเป็น “แผ่นพับ” ซึ่งบรรจุข้อมูลต่าง ๆ ที่กระชับชัดเจนและสามารถหาอ่านได้ทั่วไปในหน่วยงานที่รับผิดชอบ การจัดทำ Website เป็นสื่อกลางในการติดต่อกับชาวชุมชน รวมทั้งการสร้างภาพจำลองทั้งในรูปแบบ “โมเดลประเทศ” และ “โมเดลของชุมชน” ให้ประชาชนได้เห็นทั้งภาพของอดีตขณะที่ยังไม่มีการพัฒนา และภาพของอนาคตหากได้รับการพัฒนาจนแล้วเสร็จ

ภาพซ้าย : โมเดลของทั้งเกาะสิงคโปร์ ในห้องจัดแสดงที่เขาได้นำเสนอให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชม

3.) การเปิดโอกาสให้เยาวชน (นักเรียน-นักศึกษา) เริ่มตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ เข้ามาร่วมรับรู้ข้อมูลในข้างต้น อันเป็นการปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจ และความจำเป็น ถึงแนวทางการพัฒนาดังกล่าว ที่มีวัตถุประสงค์และประโยชน์ที่เกิดขึ้นในภาพรวมของประเทศ ในรูปแบบของการ “ทัศนศึกษา”

ประเด็นที่สาม สิงคโปร์ได้ใช้ “การกำหนดแผนการพัฒนาที่ลงไปในระดับรายละเอียด” เป็นเหมือนทั้งข้อบังคับและแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้ชุมชนสามารถนำไปใช้งานและปฏิบัติได้อย่างชัดเจน หรือนำไปเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาชุมชนทุก ๆ ชุมชน (ที่ยังไม่ได้เริ่มต้น) ให้มีทิศทางเดียวกันในทุกชุมชน คือ

1.) การกำหนดให้ชุมชนที่อยู่อาศัยทุกแห่ง จะต้องมีการปรับปรุงสภาพอาคารให้ดูใหม่อยู่เสมอ ซึ่งเป็นผลทางจิตใจแก่ผู้อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก โดยให้ร่วมกันดูแลรักษาที่อยู่อาศัยของตนเอง เช่น การทาสีอาคารทุก 5 ปี

2.) การสร้างทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคาร โดยสร้างเป็นทางเดินเรียบพื้นและมีหลังคาป้องกันแดด-ฝน บนพื้นที่ส่วนกลางซึ่งมีความเป็นระเบียบและงดงามเหมาะสมกับแต่ละสภาพของชุมชนอยู่อาศัย

3.) การกำหนดให้จัดสรรพื้นที่ส่วนกลางอย่างน้อยส่วนหนึ่งในแต่ละชุมชน จะต้องเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ เพื่อให้ชาวชุมชนมีที่พักผ่อนและออกกำลังกาย เป็นสถานที่ที่แต่ละครอบครัวสามารถมาใช้เวลาร่วมกันได้

4.) การกำหนดผู้อยู่อาศัยในด้านเชื้อชาติที่แตกต่างกัน อยู่ร่วมในชุมชนเดียวกันตามสัดส่วนที่เหมาะสม โดยทางภาครัฐเป็นผู้กำหนด เช่น ในอาคารอยู่อาศัยทุก ๆ 10 ห้อง อาจจะมีคนเชื้อชาติจีน 8 ห้อง เชื้อชาติมาเลย์ เชื้ออินเดีย อย่างละ 1 ห้อง เพื่อให้เกิดความผสมผสานกันในเชิงวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศสิงคโปร์

ประเด็นที่สี่ การกำหนด “รูปแบบ” การบริหารจัดการชุมชน ภายหลังที่ได้มีการพัฒนาเชิงกายภาพเสร็จสิ้นแล้ว อันเป็นแนวทางที่จะให้ชุมชนอยู่ร่วมกัน อย่างมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

1.) การผลักดันให้ชุมชนที่ได้รับการพัฒนาเชิงกายภาพแล้ว ให้สามารถดูแลตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้แต่ละชุมชนมี “คณะกรรมการบริหารชุมชน” ในลักษณะของการจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่มาบริหารในรูปแบบที่เรียกว่า Town Council รวมทั้งกำหนดให้เจ้าหน้าที่ในระดับผู้ปฏิบัติงาน มีส่วนร่วมในการบริหารชุมชนตนเองให้มากที่สุด เป็นการสร้างบทบาทและความสำคัญของตัวผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชน และมีการจัดประชุมเป็นรายไตรมาส ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะเป็นชี้แจงเรื่องนโยบายเชิงปฏิบัติ ที่ทางส่วนกลางต้องการแจ้งให้ทราบ พร้อมทั้งสอดแทรกการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานเข้าไว้ด้วย

2.) การให้ความสำคัญในเรื่อง “ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน” ในทุกชุมชนอยู่อาศัย เช่น
การสร้างลิฟท์ใช้งานในอาคารอยู่อาศัย ให้มีลักษณะเป็นประตูครึ่งกระจก มองเห็นจากภายนอก มีกล้องวงจรปิด และไม่อยู่ในที่ลับตา
การจัดเตรียมพื้นที่ป้องกันปัญหาเพลิงไหม้ คือ พื้นที่ที่จัดเป็นพื้นที่ส่วนกลาง (สวนสาธารณะ) จะวาง “หลักสี” เป็นจุดสังเกตให้รถดับเพลิงสามารถเข้าสู่พื้นที่ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว (สำหรับตอนกลางคืน)

3.) การบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ชุมชน เช่น
การกำหนดให้อาคารพักอาศัยที่อยู่ติดกันของชุมชน สามารถใช้ลิฟท์ร่วมกันได้ ทำให้มีการสร้างลิฟท์ใช้งานจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับอาคารพักอาศัย แต่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดเตรียมพื้นที่ตากผ้า สำหรับผู้อยู่อาศัยในแต่ละห้องได้อย่างมีระเบียบ (คล้าย ๆ กับฮ่องกง คือ เป็นไม้ยื่นยาวออกไปจากตัวอาคาร-ผู้เขียน) เป็นการนำพื้นที่ใช้สอยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การจัดให้มีจุดบริการในลักษณะ One Stop Service โดยการจัดตั้งจุดบริการด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ชาวชุมชนอยู่อาศัย เช่น จุดรับชำระค่าเช่า ค่าผ่อนชำระ ค่าบริหารส่วนกลาง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จุดให้บริการเปิดเงื่อนไขให้รับชำระได้ ซึ่งรวมถึงการชำระผ่านหน่วยงานประเภท ไปรษณีย์ ธนาคาร จะมีภาพสัญลักษณ์ให้ง่ายต่อการสังเกต

ข้อสังเกตเพิ่มเติม ที่ผู้เขียนได้รับทราบ (จากไกด์นำทาง) ในระหว่างการดูงานในครั้งนี้ ก็คือ ประสิทธิภาพในการจัดที่อยู่อาศัยในแก่ประชาชน มีอัตราส่วนที่น่าสนใจ นั่นคือ กลุ่มที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยมีอัตราส่วนที่น้อยมาก (ซึ่งต้องขอโทษผู้อ่านมา ณ ที่นี้ ที่ไม่มีข้อมูลในเรื่องของอัตรส่วนที่ว่าน้อยมากนั้น มีจำนวนเท่าไรและเปรียบเทียบกับอะไร)
ในส่วนขององค์กรที่ผู้เขียนทำงานอยู่ ภายหลังเมื่อคณะเราได้กลับจากการดูงานแล้ว ทางฝ่ายจัดการก็ได้มีการนำประเด็นหลาย ๆ ด้าน ที่พบในการดูงานครั้งนี้ มาปรับใช้ในการกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กร รวมทั้ง ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมา เพื่อรองรับต่อนโยบายและวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนดขึ้น พร้อมทั้งได้จัดทำโครงการต่าง ๆ ขึ้นมาดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุต่อวิสัยทัศน์ดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น

การกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาชุมชนอยู่อาศัย บนพื้นที่ที่องค์กรเราดูแลอยู่ ก็ได้มีการกำหนดแนวทางใหม่ ๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนเป้าหมายที่เราได้กำหนดไว้ ได้นำแนวทางการมีส่วนร่วมของชาวชุมชนที่มากขึ้น คือ

การพยายามผลักดันให้ “คณะกรรมการชุมชน” ในแต่ละชุมชนเข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางที่จะคอยเชื่อมโยงระหว่างชาวชุมชนกับองค์กรของผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ในการพัฒนาพื้นที่ให้มากขึ้น รวมทั้งที่จะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของชาวชุมชนเอง หรือการส่งเสริมให้แต่ละชุมชนที่ได้มีการพัฒนาได้อย่างดีแล้วจนสามารถเป็นชุมชนตัวอย่างได้ ยกระดับขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาที่หน่วยงานอื่นหรือชุมชนอื่น จะขอเข้ามาศึกษาดูงานได้ หรือการกำหนดแนวทางที่จะปรับปรุงภุมิทัศน์ภายในชุมชน ให้มีลักษณะทางกายภาพที่ดูแล้วมีความสดใสแก่ชุมชนมากขึ้น เช่น โครงการทาสีอาคารที่มีสภาพอาคารทรุดโทรม (ภายนอก)

ทั้งนี้ เรายังขยายผลไปยังการจัดทำ "โครงการฟื้นฟูสภาพอาคารที่อยู่อาศัยเดิม" (Urban Renewal) ซึ่งถือเป็นชุมชนที่มีที่อยู่อาศัยเดิมอยู่แล้ว แต่มีสภาพพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารที่มีสภาพทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา โดยองค์กรเราได้มีการกำหนดเป้าหมายโดยใช้พื้นที่และระยะเวลาเป็นตัวแบ่งเป้าหมายออกเป็นส่วน ๆ ในการดำเนินโครงการ เป็นต้น

การกำหนดนโยบายด้านสังคม ที่เราได้เริ่มมีการกำหนดบทบาทในเรื่องของความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมอื่น ๆ (ที่เราเรียกว่า “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”) มากขึ้น นอกจากนี้ ก็ได้มีการกำหนดนโยบายด้านการให้ทุนการศึกษา (แก่ลูกหลานของชาวชุมชนบนพื้นที่) การสนับสนุนด้านกีฬา (การเชิญลูกหลานชาวชุมชนมาร่วมฝึกกีฬาโดยบุคลากรขององค์กร) การคัดเลือกหรือสรรหาอาสาสมัครจากบุคลากรในองค์กร ในการร่วมทำกิจกรรมอื่นทางสังคมโดยรวม เช่น การปลูกป่า เป็นต้น

เป็นอย่างไรบ้างครับ จากข้อมูลที่ผู้เขียนได้รับมาซึ่งได้นำเสนอมาข้างต้น ถือได้ว่า เป็นประโยชน์ที่เราได้รับอย่างมากมายจากการไปดูงานในครั้งนี้ นอกเหนือจากองค์กรจะได้รับแล้ว ก็ยังทำให้ตัวผู้เขียนเองได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีกครับ

ในส่วนของการไปดูงานในครั้งที่สอง ผู้เขียนจะกลับมานำเสนอในตอนที่ 3 ครับ

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

โครงการดูงานแดนลอดช่อง ตอน 1 สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในเรื่องการพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัย

สุรศักดิ์ อัครอารีสุข : surasak_cpb@yahoo.com
ผู้เขียนมีประสบการณ์และคลุกคลีในงานด้านนโยบายและแผนขององค์กร และงานด้านการจัดการองค์กรมามากกว่า 10 ปี และเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการจัดทำโครงการแก่ผู้บริหารโครงการขององค์กร

ภาพซ้าย : ผู้เขียน (ซ้ายสุด) กับคณะดูงาน ถ่ายหน้าที่ทำการของ URA

คิดว่าทุกท่านในฐานะของคนทำงานคนหนึ่ง เมื่อได้ทำงานมาระยะหนึ่ง (คือ ประมาณ 5-10 ปี) ก็จะเริ่มที่จะมีภาพของความชำนาญและประสบการณ์ในงานที่ติดตาของฝ่ายบริหาร เช่น เป็นผู้มีความชำนาญและมีประสบการณ์ที่มากพอ ในเรื่องของนโยบายและแผน เรื่องทรัพยากรมนุษย์ เรื่องการประชาสัมพันธ์ ไปจนถึงงานที่เป็นธุรกิจหลักขององค์กรด้านต่าง ๆ

ผู้เขียนคิดว่า คนทำงานดังกล่าวทุกท่าน ก็คงต้องเคยได้รับมอบหมายจากฝ่ายจัดการ ให้เป็นตัวแทนหรือร่วมเป็นตัวแทนกับฝ่ายจัดการด้วยกัน ในการเดินทางไปดูงานในที่ต่าง ๆ ตามความชำนาญและประสบการณ์ของแต่ละท่านมาแล้วกันไม่น้อยเลยทีเดียว

บทความวันนี้ ผู้เขียนต้องการที่จะนำเสนอถึงประสบการณ์หลาย ๆ ด้าน ที่ผู้เขียนเคยได้รับจากการไปดูงานที่สำคัญ (ของตัวผู้เขียนเอง) ในช่วงระหว่างปี 2548-2551 ซึ่งผู้เขียนได้รับโอกาสจากหน่วยงานที่ทำงานอยู่ ให้ไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์จำนวนสองครั้ง

ครั้งแรกเป็นการศึกษาดูงานด้านการพัฒนา และการบริหารจัดการชุมชนอยู่อาศัย ของประเทศสิงคโปร์ เมื่อประมาณช่วงปลายปี 2548 ซึ่งหน่วยงานที่เราได้เข้าไปดูงานในครั้งนั้น จะเป็นองค์กรที่มีลักษณะกึ่งรัฐกึ่งเอกชน (ในประเทศไทยจะเป็นองค์กรที่เรียกว่า องค์กรมหาชน) เช่น URA HDB และ Town Council ซึ่งการไปดูงานในครั้งนั้น เป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายโดยตรง มาจากฝ่ายจัดการขององค์กรที่ผู้เขียนทำงานอยู่

ในครั้งที่สองเป็นการดูงานในเรื่องของ IT เมื่อช่วงประมาณต้นปี 2551 โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท HP ประเทศไทย บริษัท HP ดังกล่าว เป็นบริษัทที่ปรึกษาในงานด้าน IT ขององค์กรที่ผู้เขียนทำงานอยู่ ซึงในฐานะที่ปรึกษา ทางบริษัทจึงได้เสนอ ที่จะเป็นตัวกลางให้ตัวแทนจากองค์กรที่ผู้เขียนทำงาน ได้เข้าไปศึกษาและเรียนรู้ ถึงรูปแบบการใช้ระบบ IT ของบริษัทแม่ HP ณ ประเทศสิงคโปร์โดยตรง ทั้งในเรื่องของรูปแบบของเครื่องและแนวทางการติดตั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แม่ข่าย การจัดวางรูปแบบของห้อง และสถานที่ตั้งของห้องที่เหมาะสม เป็นต้น

การไปดูงานที่สิงคโปร์ทั้งสองครั้ง แต่ละครั้งต่างได้รับความรู้ ที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการทำงานต่อเนื่องได้อย่างมากมายทีเดียว ผู้เขียนขอเริ่มต้นที่การดูงานในครั้งแรกก่อนครับ


การดูงานในครั้งแรก ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมถึงในชุมชนอยู่อาศัย ถึงในระดับรากหญ้าของสิงคโปร์ (ที่ได้มีการพัฒนาและจัดสรรที่อยู่เรียบร้อยแล้ว) ซึ่งแต่ละชุมชน ต่างก็มี คณะกรรมการบริหารชุมชน ที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ขึ้นมาบริหารชุมชนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องของแนวคิด ที่จะทำให้องค์กรหรือกลุ่มโครงสร้างที่เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐกับชาวชุมชนผู้อยู่อาศัยมีความเข้มแข็งโดยตัวของชุมชนเอง สังคมของชุมชนก็จะเข้มแข็ง)

หรือการแบ่งสีของแต่ละอาคารออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้อย่างสดใส ซึ่งแต่ละสีของมีที่มาหรือความหมายในตัวของแต่ละอาคารเอง เช่น สื่อให้เห็นถึงอาคารใดที่เพิ่งเริ่มต้นสร้าง สร้างมานานแล้ว สามารถต่อเติม (Upgrade) เพิ่มเติมได้ภายหลัง หรือแม้กระทั่งลักษณะของกลุ่มอาคารที่มีการจัดสัดส่วนของคนแต่ละเชื้อชาติเข้าไปอาศัยร่วมกันในแต่ละอาคาร

ที่น่าสนใจมากก็คือ แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี นายโก๊ะ จก ตง หัวหน้ารัฐบาลของประเทศ (ณ ขณะนั้น) ก็มีที่มาจากการเริ่มต้นเป็นคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการชุมชนแห่งนั้นด้วย ทำให้ได้เห็นและเข้าใจถึงความก้าวหน้าในทางการเมืองในระบบประชาธิปไตย ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่การเมืองในระดับท้องถิ่นจนมาถึงระดับชาติ ของคน ๆ หนึ่งได้อย่างดีทีเดียว

ที่น่าสนใจอย่างมากอีกอย่างก็คือ ในเรื่องของการ Upgrade ตัวอาคารพักอาศัย ถือเป็น Know How ใหม่สำหรับตัวผู้เขียนเอง คือ เพิ่งจะทราบเหมือนกันครับว่า อาคารอยู่อาศัยขนาดเกือบ 30 ชั้น เขาสามารถต่อเติมเพื่อขยายห้องออกไปได้ด้วย น่าทึ่งมากจริง ๆ ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและรูปแบบที่เขานำมาใช้ในการต่อเติม และการวางแผนในระยะยาวสำหรับการก่อสร้างตัวอาคารขึ้นเพื่อรองรับครอบครัวขยายในอนาคต

จากการที่ได้ไปดูงานในครั้งแรก ทำให้เกิดความเข้าใจในตัวประเทศสิงคโปร์ที่มากขึ้น

คือ ภายใต้ภาพลักษณ์แห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เขามีอยู่ เบื้องหลังแห่งการบ่มเพาะให้ประเทศเขามีภาพลักษณ์อย่างที่เราได้เห็นมาจนทุกวันนี้ ก็คือ กระบวนการภายในของประเทศเขา มีความลึกซึ้งอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการกำหนดวิสัยทัศน์ด้านการจัดการที่อยู่อาศัยของประเทศที่เป็นภาพรวม การกำหนดหน่วยงานที่ขึ้นมาทำงานและรับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้ การจัดทำแผนงานที่เป็นภาพใหญ่ของประเทศ และเป็นแผนระยะยาวไม่ต่ำกว่า 30 ปี ทำให้เข้าใจคำกล่าวที่ว่าการให้ความสำคัญที่ “คน” ของเขานั้นน่าทึ่งและลึกซึ้งมาก

ผู้เขียนขอบอกเล่าประสบการณ์ ในการไปดูงานในครั้งแรกก่อนครับ

ส่วนแรก ก็คือ ช่วงเตรียมการก่อนไปดูงาน

เนื่องจากการไปดูงานในครั้งนี้ เป็นนโยบายที่ได้รับจากผู้บริหารขององค์กรโดยตรง การเตรียมการจึงเป็นไปอย่างเข้มข้น มีการกำหนดตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในองค์กร ที่มีความเกี่ยวข้องในงานที่ได้กำหนดเป้าหมายไปดูงาน จำนวนเกือบ 20 ท่านเลยทีเดียว ซึ่งถือได้ว่าเป็นคณะเดินทางที่มีขนาดใหญ่พอสมควร

ในขั้นต้น ผู้บริหารได้มีการเรียกตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมดเข้าประชุมร่วมกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อการกำหนดนโยบายหรือเป้าหมายของคณะที่จะไปดูงานในครั้งนั้น คือ เป็นการลงไปดูในภาคปฏิบัติ (ก็คือเข้าไปสัมผัสในชุมชนที่เขาได้มีการพัฒนาแล้ว) เพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้งานได้ ผ่านการจัดทำในรูปแบบของโครงการขององค์กรอีกครั้งหนึ่ง

ลำดับถัดมา เราก็ได้มีการติดต่อประสานงานไปยังสถานทูตไทยประจำสิงคโปร์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยติดต่อประสานงานไปยังหน่วยงานที่เราจะเข้าไปดูงาน ทั้งในเรื่องของ HDB URL และ Town Council อันเป็นการอำนวยความสะดวกในเบื้องต้น ก่อนการเข้าไปดูงานในลำดับถัดมา

จากนั้น เราก็ได้มีการจัดหาบริษัททัวร์ พร้อมด้วยไกด์ที่มีความชำนาญในเรื่องของการเดินทางภายในประเทศสิงคโปร์โดยรวม ซึ่งจะคอยทำหน้าที่คอยให้ข้อมูล นำทาง และอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ให้กับคณะของเราในระหว่างการไปดูงานทั้งหมด

ส่วนที่สอง ช่วงระหว่างการดูงาน

คณะของเราต่างได้รับการต้อนรับอย่างดี จากสถานทูตไทยในประเทศสิงคโปร์ หลังจากนั้น เราก็เริ่มเดินทางไปเยี่ยมชมหน่วยงานที่เราได้กำหนดเป้าหมายไว้แล้วในวันที่สอง โดยเริ่มต้นกันที่ HDB เป็นหน่วยงานแรก

ลักษณะของ HDB ก็คล้าย ๆ กับการเคหะแห่งชาติของเรา แต่ของเขาอาจจะมีความทันสมัยอยู่ในตัวมากกว่าเราสักหน่อย เป็นหน่วยงานที่มีทั้งหน้าที่ในช่วงเริ่มต้นก่อสร้างไปจนถึงภายหลังเป็นชุมชนแล้ว คือ ตั้งแต่การก่อสร้างอาคารอยู่อาศัย การฟื้นฟูสภาพอาคารเดิม การสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชน เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ ดูแลรับผิดชอบในด้านที่อยู่อาศัย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพัฒนาแห่งชาติ ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีหน้าที่และภารกิจหลักโดยสรุปก็คือ
1. จัดหาที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ในราคาที่ประชาชนซื้อหาได้
2. สร้างและการฟื้นฟูสภาพความเป็นตัวเมือง
3. สนับสนุนงานด้านการก่อสร้างอาคารชุดสำหรับชุมชน


จุดเด่นของ HDB ก็คือ ดำเนินนโยบายด้านการสร้างบ้านไม่เพียงแต่ให้เป็นแค่ “ที่อยู่อาศัย” แต่สร้างบ้าน “ให้น่าอยู่และคนอยากอยู่ สร้างสิ่งแวดล้อมในชุมชน ให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”

ลำดับถัดมา คณะของเราก็ไปเยี่ยมชม URA ลักษณะของหน่วยงาน เป็นหน่วยงานที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อรับผิดชอบการวางแผนเพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์อาคารเก่าที่ควรอนุรักษ์ ซึ่งมีหน้าที่และภารกิจหลักโดยสรุปก็คือ
1. วางแผนสร้างเมืองน่าอยู่ มีเอกลักษณ์
2. สร้างความเข้าใจกับชุมชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของแผนงานและโครงการต่าง ๆ
3. ให้ความสำคัญด้านความต้องการของประชาชน


จุดเด่นของ URA ก็คือ ดำเนินนโยบายการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ คือ การกำหนดรูปแบบการใช้ที่ดินให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการและความปลอดภัยของชุมชน รองรับการพัฒนาในอนาคต แต่ยังคงรักษาระดับ “คุณภาพชีวิต” ให้ดีได้

และในวันสุดท้าย (วันที่สาม) เราก็เดินทางไปเยี่ยมชมหน่วยงานอีกลักษณะหนึ่ง ที่เรียกตัวเองว่า Marine Parade Town Council ลักษณะของหน่วยงาน เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมีลักษณะเป็นนิติบุคคล เพื่อทำหน้าที่เข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ประกอบด้วย การพัฒนาแหล่งที่พักอาศัย การพัฒนาพื้นที่ค้าขาย ตลาด และศูนย์อาหารในเมือง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ HDB อีกลำดับหนึ่ง Marine Parade Town Council มีหน้าที่และภารกิจหลัก คือ
1. ดำเนินการตามแผนงานของ HDB
2. การปรัปบรุงสภาพแวดล้อมในแต่ละชุมชน เช่น ทาสี ตกแต่ง
3. การร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้อยู่อาศัยในชุมชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

จุดเด่นของ Marine Parade Town Council ก็คือ
1. เป็นองค์กรที่มีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมกัน “บริหารและตัดสินใจ”
2. ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐ และมีการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมถือหุ้น เพื่อสร้างสภาพคล่องในการบริหารจัดการ
3. เป็นผู้วางแผนพัฒนาการ Upgrade ของสภาพอาคาร (ที่ในตอนต้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงเรื่องการที่เขาต่อเติมห้อง จากสภาพอาคารเดิมได้อย่างน่าทึ่งนั่นเอง)
4. วางวิสัยทัศน์ “ก้าวไปสู่การรับจ้างพัฒนาและบริหารในประเทศอื่น ๆ” (ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า เป็นลักษณะเด่นที่ถือเป็นความคิดเชิงก้าวหน้าอย่างมาก)

ทั้งหมดที่ผู้เขียนได้นำเสนอมานี้ ถือเป็นเรื่องของข้อมูล ทั้งในส่วนของการเตรียมตัวก่อนเดินทางของคณะดูงาน และข้อมูลที่ได้รับจากการไปดูงานในครั้งนี้ ซึ่งผู้เขียนยังมีประเด็นในเรื่องของแนวทางที่เราได้รับจากการไปดูงานในครั้งนี้ ที่อยากจะมานำเสนอในที่นี้ ว่าจากการดูงานในครั้งนี้เราได้อะไรบ้าง แล้วเราได้นำมาปรับใช้งานอย่างไรในองค์กรของเราบ้าง ซึ่งผู้เขียนจะมานำเสนอในครั้งหน้าครับ