ภาพซ้าย : ลักษณะของลิฟท์ในอาคารที่อยู่อาศัย ที่ผู้เขียนและคณะดูงานได้ไปเยี่ยมชม จะสังเกตเห็นว่าตัวประตูลิฟท์เป็นครึ่งกระจก และมีกล้องวงจรปิด (มุมซ้ายบนเมื่อเราหันเข้าหาลิฟท์)
จากที่ได้กล่าวมาในตอนก่อน ส่วนที่สาม ที่ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง เป็นเรื่องมุมมองในเรื่องของประโยชน์ที่เราได้รับจากโครงการที่เราไปดูงานในครั้งนี้ มีประเด็นที่มากมายพอสมควร ที่ผู้เขียนอยากจะขอมานำเสนอในตอนนี้ จะเป็นเรื่องของปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชน จนประสบความสำเร็จมาจนทุกวันนี้
ประเด็นแรก ที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อความสำเร็จ ก็คือ การสร้างเครื่องมือให้แก่หน่วยงานที่ตนได้จัดตั้งขึ้นมารับผิดชอบงานดังกล่าวได้ใช้งาน ในที่นี้ก็คือการกำหนดเป้าหมาย “การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ” ของตัวประเทศสิงคโปร์เองครับ ซึ่งในปัจจุบันเราอาจจเรียกว่า “วิสัยทัศน์” ของประเทศก็ได้ครับ ประกอบด้วย
- มีนโยบายและการวางแผนการงานที่ชัดเจน รวมทั้งสามารถนำแผนงานที่ได้วางไว้มาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นรับผิดชอบงานด้านต่าง ๆ (องค์กรอิสระภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ-ถ้าในประเทศไทย ตาม กม.ใหม่ ก็คือ องค์กรมหาชน เช่น พอช.) ขึ้นมาบริหาร เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน
- การสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง เช่น การอุดหนุนด้านงบประมาณ และการกำหนดข้อกฎหมายที่ชัดเจน ซึ่งอำนวยความสะดวกต่อผู้ปฏิบัติงาน เช่น กฎหมายการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเมือง (Urban Redevelopment Authority)
- ประสิทธิภาพของ “คณะกรรมการชุมชน” ที่สามารถแบ่งเบาภาระการดูแลโดยตรงจากภาครัฐ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็คือเป้าหมายในระยะยาวของประเทศของเขา ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้ทราบอย่างชัดเจนและมีทิศทางว่า อะไรคือความต้องการของประเทศ พวกเขาจะต้องดำเนินการอย่างไร ทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น มีเครื่องมืออะไรบ้างที่จะนำไปใช้งาน (เช่น กม.ต่าง ๆ ระบบคณะกรรมการชุมชน)
สภาพพื้นที่ของชุมชนในปัจจุบันของประเทศสิงคโปร์ คือผลงานที่ได้มีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง และมีระยะเวลาในการพัฒนายาวนานไม่น้อยกว่า 30 ปี (ซึ่งในเนื้อหาที่เขาได้นำมาเสนอในพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เขียนได้เห็น เขามักจะเริ่มต้นประวัติของประเทศเขาที่ปี 1960)
ประเด็นที่สองที่ผู้เขียนพบ ก็คือ ความโดดเด่นในเรื่องของการนำวิสัยทัศน์ไปปฏิบัติเป็นแผนเชิงกลยุทธ์ ก็คือ “การส่งเสริมในเรื่องของทำประชาสัมพันธ์ และการทำความเข้าใจให้แก่มวลชนของประเทศ” ของเขาเอง ซึ่งผู้เขียนได้เคยสรุปไว้ดังนี้ครับ
ความสำเร็จในนโยบายด้านการจัดการ “ด้านที่อยู่อาศัย” ของประเทศสิงคโปร์ นั้น เกิดขึ้นจากการวางกรอบนโยบายและการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาในด้านที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน มีวัตถุประสงค์เพื่อองค์รวมของประเทศ เป็นผลให้ทุกหน่วยงานภาครัฐ อันได้แก่ หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง เช่น HDB URA หรือ Marine Parade Town Council
และหน่วยงานที่คอยให้การสนับสนุน เช่น หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรม (ศาล) สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายได้อย่างชัดเจนและสอดคล้องกัน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ในการ “ประชาสัมพันธ์” เพื่อสร้างความเข้าใจ การยอมรับและความพึงพอใจในแนวนโยบายการพัฒนาที่รัฐได้นำเสนอแก่ประชาชน ให้ประชาชนได้รับทราบถึงความจำเป็นของภาครัฐ ที่จะต้องกำหนดนโยบายการพัฒนาดังกล่าว ออกมาในลักษณะที่ได้นำเสนอให้ประชาชนได้พิจารณาร่วมกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็น “จุดแข็ง” ของประเทศสิงคโปร์ทีเดียว เช่น
ภาพขวา : ลักษณะของห้องแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เขาได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ทั้งโมเดล เรื่องราวอย่างย่อตามลำดับ ห้องจัดฉาย VCD ในรูปแบบของ การรับฟังเสียงประชามติ (Public Hearing) และได้จัดให้ทั้งประชาชนทั่วไป รวมทั้งดึงเอาเยาวชนทุกระดับเข้ามาดู ศึกษา เรียนรู้ เพื่อความเข้าใจในเป้าหมายของประเทศในสิ่งที่ได้ทำไป
1.) การนำเสนอ ขั้นตอนของการเริ่มต้นการพัฒนา หน่วยงานผู้รับผิดชอบร่วมกันในการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) โดยเป็นการทำประชาพิจารณ์ในลักษณะ เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชน เพื่อนำมาร่วมกันพิจาณาและกำหนด “ทางเลือก” ในการพัฒนาที่เหมาะสม รวมทั้งต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายของประเทศมากที่สุด (มีการทำเป็นภาพยนตร์ VCD ให้ดูเข้าใจง่าย สอดแทรกนโยบาย วัตถุประสงค์และความจำเป็นในการพัฒนาของประเทศได้อย่างชัดเจน จัดฉายและเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมอย่างทั่วถึง ณ สำนักงานใหญ่ของ URA)
ภาพซ้าย : โมเดลของทั้งเกาะสิงคโปร์ ในห้องจัดแสดงที่เขาได้นำเสนอให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชม
3.) การเปิดโอกาสให้เยาวชน (นักเรียน-นักศึกษา) เริ่มตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ เข้ามาร่วมรับรู้ข้อมูลในข้างต้น อันเป็นการปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจ และความจำเป็น ถึงแนวทางการพัฒนาดังกล่าว ที่มีวัตถุประสงค์และประโยชน์ที่เกิดขึ้นในภาพรวมของประเทศ ในรูปแบบของการ “ทัศนศึกษา”
ประเด็นที่สาม สิงคโปร์ได้ใช้ “การกำหนดแผนการพัฒนาที่ลงไปในระดับรายละเอียด” เป็นเหมือนทั้งข้อบังคับและแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้ชุมชนสามารถนำไปใช้งานและปฏิบัติได้อย่างชัดเจน หรือนำไปเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาชุมชนทุก ๆ ชุมชน (ที่ยังไม่ได้เริ่มต้น) ให้มีทิศทางเดียวกันในทุกชุมชน คือ
1.) การกำหนดให้ชุมชนที่อยู่อาศัยทุกแห่ง จะต้องมีการปรับปรุงสภาพอาคารให้ดูใหม่อยู่เสมอ ซึ่งเป็นผลทางจิตใจแก่ผู้อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก โดยให้ร่วมกันดูแลรักษาที่อยู่อาศัยของตนเอง เช่น การทาสีอาคารทุก 5 ปี
2.) การสร้างทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคาร โดยสร้างเป็นทางเดินเรียบพื้นและมีหลังคาป้องกันแดด-ฝน บนพื้นที่ส่วนกลางซึ่งมีความเป็นระเบียบและงดงามเหมาะสมกับแต่ละสภาพของชุมชนอยู่อาศัย
3.) การกำหนดให้จัดสรรพื้นที่ส่วนกลางอย่างน้อยส่วนหนึ่งในแต่ละชุมชน จะต้องเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ เพื่อให้ชาวชุมชนมีที่พักผ่อนและออกกำลังกาย เป็นสถานที่ที่แต่ละครอบครัวสามารถมาใช้เวลาร่วมกันได้
4.) การกำหนดผู้อยู่อาศัยในด้านเชื้อชาติที่แตกต่างกัน อยู่ร่วมในชุมชนเดียวกันตามสัดส่วนที่เหมาะสม โดยทางภาครัฐเป็นผู้กำหนด เช่น ในอาคารอยู่อาศัยทุก ๆ 10 ห้อง อาจจะมีคนเชื้อชาติจีน 8 ห้อง เชื้อชาติมาเลย์ เชื้ออินเดีย อย่างละ 1 ห้อง เพื่อให้เกิดความผสมผสานกันในเชิงวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศสิงคโปร์
ประเด็นที่สี่ การกำหนด “รูปแบบ” การบริหารจัดการชุมชน ภายหลังที่ได้มีการพัฒนาเชิงกายภาพเสร็จสิ้นแล้ว อันเป็นแนวทางที่จะให้ชุมชนอยู่ร่วมกัน อย่างมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
1.) การผลักดันให้ชุมชนที่ได้รับการพัฒนาเชิงกายภาพแล้ว ให้สามารถดูแลตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้แต่ละชุมชนมี “คณะกรรมการบริหารชุมชน” ในลักษณะของการจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่มาบริหารในรูปแบบที่เรียกว่า Town Council รวมทั้งกำหนดให้เจ้าหน้าที่ในระดับผู้ปฏิบัติงาน มีส่วนร่วมในการบริหารชุมชนตนเองให้มากที่สุด เป็นการสร้างบทบาทและความสำคัญของตัวผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชน และมีการจัดประชุมเป็นรายไตรมาส ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะเป็นชี้แจงเรื่องนโยบายเชิงปฏิบัติ ที่ทางส่วนกลางต้องการแจ้งให้ทราบ พร้อมทั้งสอดแทรกการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานเข้าไว้ด้วย
2.) การให้ความสำคัญในเรื่อง “ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน” ในทุกชุมชนอยู่อาศัย เช่น
การสร้างลิฟท์ใช้งานในอาคารอยู่อาศัย ให้มีลักษณะเป็นประตูครึ่งกระจก มองเห็นจากภายนอก มีกล้องวงจรปิด และไม่อยู่ในที่ลับตา
การจัดเตรียมพื้นที่ป้องกันปัญหาเพลิงไหม้ คือ พื้นที่ที่จัดเป็นพื้นที่ส่วนกลาง (สวนสาธารณะ) จะวาง “หลักสี” เป็นจุดสังเกตให้รถดับเพลิงสามารถเข้าสู่พื้นที่ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว (สำหรับตอนกลางคืน)
3.) การบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ชุมชน เช่น
การกำหนดให้อาคารพักอาศัยที่อยู่ติดกันของชุมชน สามารถใช้ลิฟท์ร่วมกันได้ ทำให้มีการสร้างลิฟท์ใช้งานจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับอาคารพักอาศัย แต่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดเตรียมพื้นที่ตากผ้า สำหรับผู้อยู่อาศัยในแต่ละห้องได้อย่างมีระเบียบ (คล้าย ๆ กับฮ่องกง คือ เป็นไม้ยื่นยาวออกไปจากตัวอาคาร-ผู้เขียน) เป็นการนำพื้นที่ใช้สอยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การจัดให้มีจุดบริการในลักษณะ One Stop Service โดยการจัดตั้งจุดบริการด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ชาวชุมชนอยู่อาศัย เช่น จุดรับชำระค่าเช่า ค่าผ่อนชำระ ค่าบริหารส่วนกลาง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จุดให้บริการเปิดเงื่อนไขให้รับชำระได้ ซึ่งรวมถึงการชำระผ่านหน่วยงานประเภท ไปรษณีย์ ธนาคาร จะมีภาพสัญลักษณ์ให้ง่ายต่อการสังเกต
ข้อสังเกตเพิ่มเติม ที่ผู้เขียนได้รับทราบ (จากไกด์นำทาง) ในระหว่างการดูงานในครั้งนี้ ก็คือ ประสิทธิภาพในการจัดที่อยู่อาศัยในแก่ประชาชน มีอัตราส่วนที่น่าสนใจ นั่นคือ กลุ่มที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยมีอัตราส่วนที่น้อยมาก (ซึ่งต้องขอโทษผู้อ่านมา ณ ที่นี้ ที่ไม่มีข้อมูลในเรื่องของอัตรส่วนที่ว่าน้อยมากนั้น มีจำนวนเท่าไรและเปรียบเทียบกับอะไร)
ในส่วนขององค์กรที่ผู้เขียนทำงานอยู่ ภายหลังเมื่อคณะเราได้กลับจากการดูงานแล้ว ทางฝ่ายจัดการก็ได้มีการนำประเด็นหลาย ๆ ด้าน ที่พบในการดูงานครั้งนี้ มาปรับใช้ในการกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กร รวมทั้ง ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมา เพื่อรองรับต่อนโยบายและวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนดขึ้น พร้อมทั้งได้จัดทำโครงการต่าง ๆ ขึ้นมาดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุต่อวิสัยทัศน์ดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น
การกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาชุมชนอยู่อาศัย บนพื้นที่ที่องค์กรเราดูแลอยู่ ก็ได้มีการกำหนดแนวทางใหม่ ๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนเป้าหมายที่เราได้กำหนดไว้ ได้นำแนวทางการมีส่วนร่วมของชาวชุมชนที่มากขึ้น คือ
การพยายามผลักดันให้ “คณะกรรมการชุมชน” ในแต่ละชุมชนเข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางที่จะคอยเชื่อมโยงระหว่างชาวชุมชนกับองค์กรของผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ในการพัฒนาพื้นที่ให้มากขึ้น รวมทั้งที่จะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของชาวชุมชนเอง หรือการส่งเสริมให้แต่ละชุมชนที่ได้มีการพัฒนาได้อย่างดีแล้วจนสามารถเป็นชุมชนตัวอย่างได้ ยกระดับขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาที่หน่วยงานอื่นหรือชุมชนอื่น จะขอเข้ามาศึกษาดูงานได้ หรือการกำหนดแนวทางที่จะปรับปรุงภุมิทัศน์ภายในชุมชน ให้มีลักษณะทางกายภาพที่ดูแล้วมีความสดใสแก่ชุมชนมากขึ้น เช่น โครงการทาสีอาคารที่มีสภาพอาคารทรุดโทรม (ภายนอก)
ทั้งนี้ เรายังขยายผลไปยังการจัดทำ "โครงการฟื้นฟูสภาพอาคารที่อยู่อาศัยเดิม" (Urban Renewal) ซึ่งถือเป็นชุมชนที่มีที่อยู่อาศัยเดิมอยู่แล้ว แต่มีสภาพพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารที่มีสภาพทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา โดยองค์กรเราได้มีการกำหนดเป้าหมายโดยใช้พื้นที่และระยะเวลาเป็นตัวแบ่งเป้าหมายออกเป็นส่วน ๆ ในการดำเนินโครงการ เป็นต้น
การกำหนดนโยบายด้านสังคม ที่เราได้เริ่มมีการกำหนดบทบาทในเรื่องของความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมอื่น ๆ (ที่เราเรียกว่า “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”) มากขึ้น นอกจากนี้ ก็ได้มีการกำหนดนโยบายด้านการให้ทุนการศึกษา (แก่ลูกหลานของชาวชุมชนบนพื้นที่) การสนับสนุนด้านกีฬา (การเชิญลูกหลานชาวชุมชนมาร่วมฝึกกีฬาโดยบุคลากรขององค์กร) การคัดเลือกหรือสรรหาอาสาสมัครจากบุคลากรในองค์กร ในการร่วมทำกิจกรรมอื่นทางสังคมโดยรวม เช่น การปลูกป่า เป็นต้น
เป็นอย่างไรบ้างครับ จากข้อมูลที่ผู้เขียนได้รับมาซึ่งได้นำเสนอมาข้างต้น ถือได้ว่า เป็นประโยชน์ที่เราได้รับอย่างมากมายจากการไปดูงานในครั้งนี้ นอกเหนือจากองค์กรจะได้รับแล้ว ก็ยังทำให้ตัวผู้เขียนเองได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีกครับ
ในส่วนของการไปดูงานในครั้งที่สอง ผู้เขียนจะกลับมานำเสนอในตอนที่ 3 ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น