ภาพซ้าย : ผู้เขียน (ซ้ายสุด) กับคณะดูงาน ถ่ายหน้าที่ทำการของ URA
คิดว่าทุกท่านในฐานะของคนทำงานคนหนึ่ง เมื่อได้ทำงานมาระยะหนึ่ง (คือ ประมาณ 5-10 ปี) ก็จะเริ่มที่จะมีภาพของความชำนาญและประสบการณ์ในงานที่ติดตาของฝ่ายบริหาร เช่น เป็นผู้มีความชำนาญและมีประสบการณ์ที่มากพอ ในเรื่องของนโยบายและแผน เรื่องทรัพยากรมนุษย์ เรื่องการประชาสัมพันธ์ ไปจนถึงงานที่เป็นธุรกิจหลักขององค์กรด้านต่าง ๆ
ผู้เขียนคิดว่า คนทำงานดังกล่าวทุกท่าน ก็คงต้องเคยได้รับมอบหมายจากฝ่ายจัดการ ให้เป็นตัวแทนหรือร่วมเป็นตัวแทนกับฝ่ายจัดการด้วยกัน ในการเดินทางไปดูงานในที่ต่าง ๆ ตามความชำนาญและประสบการณ์ของแต่ละท่านมาแล้วกันไม่น้อยเลยทีเดียว
บทความวันนี้ ผู้เขียนต้องการที่จะนำเสนอถึงประสบการณ์หลาย ๆ ด้าน ที่ผู้เขียนเคยได้รับจากการไปดูงานที่สำคัญ (ของตัวผู้เขียนเอง) ในช่วงระหว่างปี 2548-2551 ซึ่งผู้เขียนได้รับโอกาสจากหน่วยงานที่ทำงานอยู่ ให้ไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์จำนวนสองครั้ง
ครั้งแรกเป็นการศึกษาดูงานด้านการพัฒนา และการบริหารจัดการชุมชนอยู่อาศัย ของประเทศสิงคโปร์ เมื่อประมาณช่วงปลายปี 2548 ซึ่งหน่วยงานที่เราได้เข้าไปดูงานในครั้งนั้น จะเป็นองค์กรที่มีลักษณะกึ่งรัฐกึ่งเอกชน (ในประเทศไทยจะเป็นองค์กรที่เรียกว่า องค์กรมหาชน) เช่น URA HDB และ Town Council ซึ่งการไปดูงานในครั้งนั้น เป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายโดยตรง มาจากฝ่ายจัดการขององค์กรที่ผู้เขียนทำงานอยู่
ในครั้งที่สองเป็นการดูงานในเรื่องของ IT เมื่อช่วงประมาณต้นปี 2551 โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท HP ประเทศไทย บริษัท HP ดังกล่าว เป็นบริษัทที่ปรึกษาในงานด้าน IT ขององค์กรที่ผู้เขียนทำงานอยู่ ซึงในฐานะที่ปรึกษา ทางบริษัทจึงได้เสนอ ที่จะเป็นตัวกลางให้ตัวแทนจากองค์กรที่ผู้เขียนทำงาน ได้เข้าไปศึกษาและเรียนรู้ ถึงรูปแบบการใช้ระบบ IT ของบริษัทแม่ HP ณ ประเทศสิงคโปร์โดยตรง ทั้งในเรื่องของรูปแบบของเครื่องและแนวทางการติดตั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แม่ข่าย การจัดวางรูปแบบของห้อง และสถานที่ตั้งของห้องที่เหมาะสม เป็นต้น
การไปดูงานที่สิงคโปร์ทั้งสองครั้ง แต่ละครั้งต่างได้รับความรู้ ที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการทำงานต่อเนื่องได้อย่างมากมายทีเดียว ผู้เขียนขอเริ่มต้นที่การดูงานในครั้งแรกก่อนครับ
การดูงานในครั้งแรก ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมถึงในชุมชนอยู่อาศัย ถึงในระดับรากหญ้าของสิงคโปร์ (ที่ได้มีการพัฒนาและจัดสรรที่อยู่เรียบร้อยแล้ว) ซึ่งแต่ละชุมชน ต่างก็มี คณะกรรมการบริหารชุมชน ที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ขึ้นมาบริหารชุมชนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องของแนวคิด ที่จะทำให้องค์กรหรือกลุ่มโครงสร้างที่เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐกับชาวชุมชนผู้อยู่อาศัยมีความเข้มแข็งโดยตัวของชุมชนเอง สังคมของชุมชนก็จะเข้มแข็ง)
หรือการแบ่งสีของแต่ละอาคารออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้อย่างสดใส ซึ่งแต่ละสีของมีที่มาหรือความหมายในตัวของแต่ละอาคารเอง เช่น สื่อให้เห็นถึงอาคารใดที่เพิ่งเริ่มต้นสร้าง สร้างมานานแล้ว สามารถต่อเติม (Upgrade) เพิ่มเติมได้ภายหลัง หรือแม้กระทั่งลักษณะของกลุ่มอาคารที่มีการจัดสัดส่วนของคนแต่ละเชื้อชาติเข้าไปอาศัยร่วมกันในแต่ละอาคาร
ที่น่าสนใจมากก็คือ แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี นายโก๊ะ จก ตง หัวหน้ารัฐบาลของประเทศ (ณ ขณะนั้น) ก็มีที่มาจากการเริ่มต้นเป็นคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการชุมชนแห่งนั้นด้วย ทำให้ได้เห็นและเข้าใจถึงความก้าวหน้าในทางการเมืองในระบบประชาธิปไตย ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่การเมืองในระดับท้องถิ่นจนมาถึงระดับชาติ ของคน ๆ หนึ่งได้อย่างดีทีเดียว
ที่น่าสนใจอย่างมากอีกอย่างก็คือ ในเรื่องของการ Upgrade ตัวอาคารพักอาศัย ถือเป็น Know How ใหม่สำหรับตัวผู้เขียนเอง คือ เพิ่งจะทราบเหมือนกันครับว่า อาคารอยู่อาศัยขนาดเกือบ 30 ชั้น เขาสามารถต่อเติมเพื่อขยายห้องออกไปได้ด้วย น่าทึ่งมากจริง ๆ ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและรูปแบบที่เขานำมาใช้ในการต่อเติม และการวางแผนในระยะยาวสำหรับการก่อสร้างตัวอาคารขึ้นเพื่อรองรับครอบครัวขยายในอนาคต
จากการที่ได้ไปดูงานในครั้งแรก ทำให้เกิดความเข้าใจในตัวประเทศสิงคโปร์ที่มากขึ้น
คือ ภายใต้ภาพลักษณ์แห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เขามีอยู่ เบื้องหลังแห่งการบ่มเพาะให้ประเทศเขามีภาพลักษณ์อย่างที่เราได้เห็นมาจนทุกวันนี้ ก็คือ กระบวนการภายในของประเทศเขา มีความลึกซึ้งอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการกำหนดวิสัยทัศน์ด้านการจัดการที่อยู่อาศัยของประเทศที่เป็นภาพรวม การกำหนดหน่วยงานที่ขึ้นมาทำงานและรับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้ การจัดทำแผนงานที่เป็นภาพใหญ่ของประเทศ และเป็นแผนระยะยาวไม่ต่ำกว่า 30 ปี ทำให้เข้าใจคำกล่าวที่ว่าการให้ความสำคัญที่ “คน” ของเขานั้นน่าทึ่งและลึกซึ้งมาก
ผู้เขียนขอบอกเล่าประสบการณ์ ในการไปดูงานในครั้งแรกก่อนครับ
ส่วนแรก ก็คือ ช่วงเตรียมการก่อนไปดูงาน
เนื่องจากการไปดูงานในครั้งนี้ เป็นนโยบายที่ได้รับจากผู้บริหารขององค์กรโดยตรง การเตรียมการจึงเป็นไปอย่างเข้มข้น มีการกำหนดตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในองค์กร ที่มีความเกี่ยวข้องในงานที่ได้กำหนดเป้าหมายไปดูงาน จำนวนเกือบ 20 ท่านเลยทีเดียว ซึ่งถือได้ว่าเป็นคณะเดินทางที่มีขนาดใหญ่พอสมควร
ในขั้นต้น ผู้บริหารได้มีการเรียกตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมดเข้าประชุมร่วมกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อการกำหนดนโยบายหรือเป้าหมายของคณะที่จะไปดูงานในครั้งนั้น คือ เป็นการลงไปดูในภาคปฏิบัติ (ก็คือเข้าไปสัมผัสในชุมชนที่เขาได้มีการพัฒนาแล้ว) เพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้งานได้ ผ่านการจัดทำในรูปแบบของโครงการขององค์กรอีกครั้งหนึ่ง
ลำดับถัดมา เราก็ได้มีการติดต่อประสานงานไปยังสถานทูตไทยประจำสิงคโปร์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยติดต่อประสานงานไปยังหน่วยงานที่เราจะเข้าไปดูงาน ทั้งในเรื่องของ HDB URL และ Town Council อันเป็นการอำนวยความสะดวกในเบื้องต้น ก่อนการเข้าไปดูงานในลำดับถัดมา
จากนั้น เราก็ได้มีการจัดหาบริษัททัวร์ พร้อมด้วยไกด์ที่มีความชำนาญในเรื่องของการเดินทางภายในประเทศสิงคโปร์โดยรวม ซึ่งจะคอยทำหน้าที่คอยให้ข้อมูล นำทาง และอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ให้กับคณะของเราในระหว่างการไปดูงานทั้งหมด
ส่วนที่สอง ช่วงระหว่างการดูงาน
คณะของเราต่างได้รับการต้อนรับอย่างดี จากสถานทูตไทยในประเทศสิงคโปร์ หลังจากนั้น เราก็เริ่มเดินทางไปเยี่ยมชมหน่วยงานที่เราได้กำหนดเป้าหมายไว้แล้วในวันที่สอง โดยเริ่มต้นกันที่ HDB เป็นหน่วยงานแรก
ลักษณะของ HDB ก็คล้าย ๆ กับการเคหะแห่งชาติของเรา แต่ของเขาอาจจะมีความทันสมัยอยู่ในตัวมากกว่าเราสักหน่อย เป็นหน่วยงานที่มีทั้งหน้าที่ในช่วงเริ่มต้นก่อสร้างไปจนถึงภายหลังเป็นชุมชนแล้ว คือ ตั้งแต่การก่อสร้างอาคารอยู่อาศัย การฟื้นฟูสภาพอาคารเดิม การสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชน เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ ดูแลรับผิดชอบในด้านที่อยู่อาศัย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพัฒนาแห่งชาติ ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีหน้าที่และภารกิจหลักโดยสรุปก็คือ
1. จัดหาที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ในราคาที่ประชาชนซื้อหาได้
2. สร้างและการฟื้นฟูสภาพความเป็นตัวเมือง
3. สนับสนุนงานด้านการก่อสร้างอาคารชุดสำหรับชุมชน
จุดเด่นของ HDB ก็คือ ดำเนินนโยบายด้านการสร้างบ้านไม่เพียงแต่ให้เป็นแค่ “ที่อยู่อาศัย” แต่สร้างบ้าน “ให้น่าอยู่และคนอยากอยู่ สร้างสิ่งแวดล้อมในชุมชน ให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”
ลำดับถัดมา คณะของเราก็ไปเยี่ยมชม URA ลักษณะของหน่วยงาน เป็นหน่วยงานที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อรับผิดชอบการวางแผนเพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์อาคารเก่าที่ควรอนุรักษ์ ซึ่งมีหน้าที่และภารกิจหลักโดยสรุปก็คือ
1. วางแผนสร้างเมืองน่าอยู่ มีเอกลักษณ์
2. สร้างความเข้าใจกับชุมชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของแผนงานและโครงการต่าง ๆ
3. ให้ความสำคัญด้านความต้องการของประชาชน
จุดเด่นของ URA ก็คือ ดำเนินนโยบายการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ คือ การกำหนดรูปแบบการใช้ที่ดินให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการและความปลอดภัยของชุมชน รองรับการพัฒนาในอนาคต แต่ยังคงรักษาระดับ “คุณภาพชีวิต” ให้ดีได้
และในวันสุดท้าย (วันที่สาม) เราก็เดินทางไปเยี่ยมชมหน่วยงานอีกลักษณะหนึ่ง ที่เรียกตัวเองว่า Marine Parade Town Council ลักษณะของหน่วยงาน เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมีลักษณะเป็นนิติบุคคล เพื่อทำหน้าที่เข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ประกอบด้วย การพัฒนาแหล่งที่พักอาศัย การพัฒนาพื้นที่ค้าขาย ตลาด และศูนย์อาหารในเมือง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ HDB อีกลำดับหนึ่ง Marine Parade Town Council มีหน้าที่และภารกิจหลัก คือ
1. ดำเนินการตามแผนงานของ HDB
2. การปรัปบรุงสภาพแวดล้อมในแต่ละชุมชน เช่น ทาสี ตกแต่ง
3. การร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้อยู่อาศัยในชุมชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
จุดเด่นของ Marine Parade Town Council ก็คือ
1. เป็นองค์กรที่มีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมกัน “บริหารและตัดสินใจ”
2. ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐ และมีการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมถือหุ้น เพื่อสร้างสภาพคล่องในการบริหารจัดการ
3. เป็นผู้วางแผนพัฒนาการ Upgrade ของสภาพอาคาร (ที่ในตอนต้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงเรื่องการที่เขาต่อเติมห้อง จากสภาพอาคารเดิมได้อย่างน่าทึ่งนั่นเอง)
4. วางวิสัยทัศน์ “ก้าวไปสู่การรับจ้างพัฒนาและบริหารในประเทศอื่น ๆ” (ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า เป็นลักษณะเด่นที่ถือเป็นความคิดเชิงก้าวหน้าอย่างมาก)
ทั้งหมดที่ผู้เขียนได้นำเสนอมานี้ ถือเป็นเรื่องของข้อมูล ทั้งในส่วนของการเตรียมตัวก่อนเดินทางของคณะดูงาน และข้อมูลที่ได้รับจากการไปดูงานในครั้งนี้ ซึ่งผู้เขียนยังมีประเด็นในเรื่องของแนวทางที่เราได้รับจากการไปดูงานในครั้งนี้ ที่อยากจะมานำเสนอในที่นี้ ว่าจากการดูงานในครั้งนี้เราได้อะไรบ้าง แล้วเราได้นำมาปรับใช้งานอย่างไรในองค์กรของเราบ้าง ซึ่งผู้เขียนจะมานำเสนอในครั้งหน้าครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น