วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ดัชนีสภาวะธรรมาภิบาล (Governance Indicator)

นายสุรศักดิ์ อัครอารีสุข
173 ถนนนครราชสีมา ดุสิต กรุงเทพฯ 10300
e-mail : surasakdota@crownpropertydotordotthsurasak.cpb@gmail.com surasak_cpb@hotmail.com
http://surasak-akkaraareesuk.blogspot.com/

               ตัวชี้วัดธรรมาภิบาล  ผู้เขียนอ่านเจอจากรายงาน “การพัฒนาระบบราชการไทย ประจำปี 2554”  ของ ก.พ.ร.  เห็นว่าน่าสนใจดีและน่าจะมีประโยชน์สามารถนำไปใช้ได้ในโอกาสต่าง ๆ ในการทำงาน  จึงขอนำมาโพสต์ไว้เพื่อการช่วยจำและทุกท่านได้ลองศึกษาดูครับ……..สำนักงานธรรมาภิบาลโลก  ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับดัชนีสภาวะธรรมาภิบาลโลก (Worldwide Governance Indicator-WGI) จาก 213 ประเทศ ใน Governance Matters 2011 โดยใช้ดัชนีสภาวะธรรมาภิบาล (Governance Indicator)  6 มิติ  ดังนี้ครับ

1)     การมีสิทธิ์มีเสียงของประชาชนและภาระรับผิดชอบ (Voice and Accountability)  เกี่ยวข้องกับการที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยตนเอง  รวมถึงการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน  ตลอดจนในการชุมนุมและสมาคม

2)     ความมีเสรีภาพทางการเมืองและการปราศจากความรุนแรง (Political Stability and Absence of Violence)  เป็นเรื่องของโอกาสความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะไร้เสถียรภาพหรือถูกโค่นล้ม  โดยอาศัยวิธีการต่าง ๆ ที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เช่น การใช้ความรุนแรงทางการเมืองและการก่อการร้าย 

3)     ประสิทธิผลของรัฐบาล (Government Effectiveness)  เป็นการให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพการให้บริการและความสามารถของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ตลอดจนความเป็นอิสระจากการแทรกแซงทางการเมือง  รวมถึงคุณภาพการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ  ความมุ่งมั่นจริงจังของรัฐบาลที่มีต่อนโยบายดังกล่าว

4)     คุณภาพของมาตรการควบคุม (Regulatory Quality)  เป็นเรื่องขีดความสามารถของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายและออกมาตรการควบคุม  รวมถึงการบังคับใช้นโยบายและมาตรการดังกล่าว  ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและเอื้อต่อการส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถพัฒนาได้

5)    นิติธรรม (Rule of Law)  เกี่ยวข้องกับระดับของการที่บุคคลของฝ่ายต่าง ๆ มีความมั่นใจและยอมรับปฏิบัติตามกติกาในการอยู่ร่วมกันของสังคม  โดยเฉพาะคุณภาพของการบังคับให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข  สัญญา  การตำรวจ  และการอำนวยความยุคิธรรม  รวมถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดอาชญากรรมและความรุนแรง

6)     การควบคุมปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ (Control of Corruption)  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทั้งในรูปแบบของการทุจริตประพฤติมิชอบเพียงเล็กน้อย  หรือขนานใหญ่  รวมถึงการเข้าครอบครองรัฐโดยชนชั้นนำทางการเมืองและนักธุรกิจเอกชน  ที่มุ่งเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น