วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

สู่อนาคต : อัตชีวประวัติที่น่าอ่าน

       เรื่องราวในลักษณะที่เป็น “อัตชีวประวัติ” ส่วนตัวของจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช หรือจอร์จ บุชผู้พ่อ ซึ่งเป็นถึงอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนที่ 41

       หนังสือค่อนข้างเก่า (ประมาณปี 2531) ตัวหนังสือผมได้มาจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อหลายปีก่อน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บรรณิจ หนังสือนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ได้ทั้งอบอุ่น (ชีวิตครอบครัว-ส่วนตัว) และน่าอ่าน (ประสบการณ์ในงาน) ทีเดียว

       โดยมีทั้งประเด็นที่นำเสนอในภาพกว้าง คือ ประสบการณ์การทำงานของตัวผู้เล่าเอง และประเด็นที่ลงลืกในรายละเอียด ทั้งจากชีวิตส่วนตัวของผู้เล่า และจากประสบการณ์ในการทำงานที่บอกเล่าให้เราได้รับรู้ถึงที่มาของครอบครัว ชีวิตเริ่มต้นของการทำงาน การตัดสินใจทางการเมือง รวมทั้งความทะเยอทะยานในชีวิตของผู้เล่า

        อยากแนะนำให้ลองหามาอ่านกันดูครับ เพราะประเด็นรายละเอียดจำนวนมากที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ เราในฐานะคนทำงานสามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างไม่ล้าสมัยแต่ประการใด

        ผู้เขียนเล่าถึงภาพรวามของตนเองทั้งหมด  ทั้งเรื่งงาน - ส่วนตัว - และครอบครัว

       เริ่มต้นตั้งแต่  การดำเนินชีวิตครอบครัวของผู้เขียนก็สามารถนำมาเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น ช่วงการเริ่มต้นชีวิตการทำงานในเท็กซัส การพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ก่อนการตัดสินใจ (การเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศจีน หรือประธานคณะกรรมาธิการพรรคริพับริกัน) การปรึกษาผู้มีประสบการณ์ที่มากกว่า (เช่น กับอดีตประธานาธิบดีจอห์นสัน) การจ้างทีมงานที่เหมาะสมในการเป็นทีมสนับสนุนระหว่างการดำรงตำแหน่งทางการเมือง การให้ความสำคัญกับครอบครัวไม่ว่างานจะยุ่งเพียงใด ความกล้าตัดสินใจที่มีจดหมายปิดผนึกไปยังอดีตประธานาธิบดีนิกสัน เป็นต้น

        หนังสือแบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 บท ประกอบด้วย
          บทแรก  ที่กล่าวถึงช่วงเริ่มต้นของชีวิตที่ได้กล่าวถึงความผูกพันทั้งทางฝั่งบิดาและมารดา การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง การไปเริ่มต้นทำงานที่บริษัทน้ำมันในเท็กซัส
          บทสอง  จะกล่าวถึงช่วงการเติบโตทางธุรกิจน้ำมันที่เริ่มรุ่งโรจน์
          บทที่สาม  กล่าวถึงการเริ่มต้นชีวิตการเมือง
          บทที่สี่  เป็นช่วงที่ทั้งรุ่งโรจน์สุดในการเติบโตตำแหน่งทางการเมืองในสมัยรัฐบาลนิกสัน (เอกอัครราชทูตประจำสหประชาชาติ) สมัยรัฐบาลฟอร์ด (เอกอัครราชทูตประจำประเทศจีน ผู้อำนวยการซีไอเอ)
          และ  บทสุดท้าย  บทที่ 5  กล่าวถึงช่วงการรณรงค์หาเสียงเพื่อเป็นตัวแทนพรรคริพับริกันเพื่อการเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับโรนัลด์ เรแกน ก่อนที่เหตุการจะพัฒนากลายเป็นการเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีคู่กันในภายหลัง

       ที่น่าสนในอีกอันหนึ่ง  ในช่วงก่อนเข้าสู่บทแรก ผู้เขียนได้เล่าถึงที่มาของการจัดทำอัตชีวประวัติเล่มนี้ รวมถึงการเล่าให้เราได้รับทราบอย่างชนิดเกาะติดสถานการณ์  ในช่วงการเลือกตัวรองประธานาธิบดีเคียงคู่กับอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ซึ่งในช่วงที่จะต้องมีการกำหนดตัวผู้เข้ามาเป็นรองประธานาธิบดีระหว่างตัวผู้เขียนกับอดีตประธานาธิบดีเจอรัล ฟอร์ด นับว่าเป็นการเมืองสไตล์อเมริกันขนานแท้เลยทีเดียว ที่ต้องมีทั้งการเจรจา การต่อรอง การล็อบบี้ผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ....

        ทั้งหมดนี้ อยากแนะนำให้เราได้ลองหามาอ่านกันดูครับ ถือเป็นการศึกษาประสบการณ์จากบุคคลที่มีความสามารถสูง ทั้งในเชิงลึกจากประวัติของเขา และในเชิงกว้างที่เราอาจจเคยได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับตัวผู้เขียนในเรื่องนี้มาในอดีต ซึ่งสำหรับนักอ่านก็ไม่น่าจะผิดหวังในเรื่องของเนื่อหาที่ปรากฎอยู่ในเล่ม ที่มีความเข้มข้นที่อ่านได้สนุกราวกับนวนิยายเลยทีเดียวครับ..

สุรศักดิ์  อัครอารีสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น