เมื่อได้ยินใครถามคำถามนี้ถ้าหากเราสนิทกันพอที่จะแนะนำได้โดยทันที
ผมก็จะบอกกับทุก ๆ คนเลยว่า อันที่จริงแล้วพวกเราทุกคนต่างเริ่มต้นลงทุนกันมานานมากแล้วล่ะ และปัจจุบันพวกเราทุกคนก็ยังลงทุนอยู่กันอย่างต่อเนื่อง น้อยคนมากจริง ๆ ที่จะไม่ได้ลงทุนอะไรเลย
เพื่อเป็นการตอบคำถามข้างต้นในบทความนี้ ผมจึงอยากนำเสนอรูปแบบการลงทุน 2 แบบ ที่อยู่รอบตัวเราและใกล้ชิดกับพวกเรามากเป็นลำดับต้น
ๆ ที่ไม่ว่าเราจะเป็นคนที่ทำงานกินเงินเดือน
หรือคนที่เป็นเจ้าของกิจการอยู่ก็ตาม
ที่เราจะต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังมากขึ้น
ลงทุนแบบแรก ก็คือ “การฝากเงินกับธนาคาร” ผมมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นการลงทุนแบบแรก ๆ
เลย ของพวกเรา ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มต้นลงทุนรูปแบบนี้กันมาตั้งแต่ยังเด็ก และจนปัจจุบันผมมั่นใจว่าทุก ๆ คนก็ยังคงมีสัดส่วนการลงทุนในหมวดนี้กันอย่างสม่ำเสมอ ส่วนมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับภาระหน้าที่และกำลังของแต่ละคน ผลตอบแทนหลักของการลงทุนประเภทนี้ก็คือ
ดอกเบี้ย ตามแต่อัตราที่เราได้รับจากธนาคาร
แต่ผลตอบแทนอีกอย่างหนึ่งที่เรามักจะไม่ได้คิดถึงกันเท่าไรนักในเรื่องของการลงทุนในหมวดนี้
ก็คือ “จำนวนเงินทุนสะสม” ที่พอกพูนขึ้นจากการที่เราค่อย
ๆ สะสมในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะพัฒนาเป็น
“โอกาส” ที่เราจะหาทางนำเงินทุนนี้ไปขยายผลต่อ หรือภาษาทางธุรกิจที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยมากในปัจจุบัน คือ
“การต่อยอดทางธุรกิจ” เพราะทรัพยากรที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ
ก็คือ
“เงินทุนและเวลา” นั่นเอง
ลงทุนแบบที่สอง ก็คือ
“การซื้อกองทุน” ที่ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่เราซื้อด้วยตนเองซึ่งมีอยู่ทั่วไปในตลาด หรือการเป็นสมาชิกเพื่อหักเงินออมสะสมเข้ากองทุนที่องค์กรที่เราทำงานอยู่ได้ตั้งขึ้นมา
เช่น “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” การลงทุนในรูปแบบนี้เพื่อน
ๆ หรือคนรู้จักส่วนใหญ่กลับไม่ได้มองว่าเป็นการลงทุน แต่กลับมองเพียงว่าเป็น “การซื้อหน่วยลงทุน” เพื่อนำมาใช้ในการหักภาษี โดยเฉพาะในกลุ่มเพื่อนที่มีรายได้ต่อปีค่อนข้างสูง ที่มีสัดส่วนการเสียภาษีต่อปีตั้งแต่ร้อยละ
10 ขึ้นไป
ผลตอบแทนจากการลงทุนในหมวดนี้
ก็มีทั้งกำไรส่วนต่างที่เกิดจากการขายกองทุนในกองที่อนุญาตให้เราทำได้เมื่อครบเงื่อนไข หรือการได้รับเงินปันผลจากกองทุน (ถ้ามี)
ไปจนถึงกำไรสะสมจากประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนจนทำให้กองทุนที่เราถือนั้นเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การลงทุนทั้งสองแบบที่ได้กล่าวในข้างต้น พวกเราส่วนใหญ่มักจะไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องของการลงทุน
หรือการทำธุรกิจ ทั้งที่เป็นการนำเงินออมที่เราได้สะสมไว้ หรือรายได้ที่เราได้รับมาใช้ในการซื้อกองทุนหรือนำไปฝากไว้กับธนาคาร ซึ่งการทำดังกล่าวผมมองว่าก็ไม่ต่างกับ “การลงทุนหรือทำธุรกิจ” อยู่นั่นเอง
และเมื่อตัวเรายังไม่มีมุมมองในลักษณะนี้ ก็เป็นไปได้ว่าเราได้สร้างมุมมองที่จำกัดไว้เพียงด้านเดียว ทำให้เราไม่มีแรงจูงใจที่จะคิดค้นหาวิธีการ หรือกลยุทธ์ใด ๆ มาใช้เพื่อปรับแนวทางในการลงทุน หรือการทำธุรกิจของตัวเราให้ดีขึ้นหรือเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวเราเองยิ่ง
ๆ ขึ้นไป
สุรศักดิ์ อัครอารีสุข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น