วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

สอนลูกเรื่องเงิน

       "หัวใจสำคัญของการสอน คือ ความเต็มใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่"
       วลีข้างต้น  ผมนำมาจากภาพยนต์เรื่อง The Rewrite (2014) หรือในชื่อไทยว่า  "เขียนอย่างไรให้คนมารักกัน"  ที่นำแสดงโดย ฮิ้วจ์ แกรนท์ (Hugh Grant) 
       ซึ่งผมมองว่าเป็นคำพูดที่เฉียบคมมากที่หนังได้นำเสนอให้เราได้รับฟังกัน 
       ตัวหนังก็สนุกดีนะครับในมุมมองผม  อาจจะไม่ถูกใจคนที่อายุยังน้อยอยู่บ้าง  แต่ผมว่าก็โรแมนติกและน่ารักดี  
       ที่สำคัญเพราะ การกระทำ ของตัวละครทั้งหมดในเรื่อง  ตรงกับวลีข้างต้นอย่างมากเลยครับ 
       ในเรื่อง  ความรู้ทางการเงิน  ผมคิดว่าทุกวันนี้  เราแทบจะไม่ต้องสอนหรือแนะนำกันในเรื่องนี้กันอีกแล้วล่ะครับ   โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า  การสร้างความมั่นคงทางการเงิน หรือ การสร้างความมั่งคั่ง ให้กับตัวเราในช่วงเกษียณนั้นเราต้องทำอะไรบ้าง 
       เนื่องจากความรู้เหล่านี้เพียงแค่คลิกเดียว  เราก็รับทราบข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตที่เป็นแหล่งความรู้อันกว้างใหญ่ไพศาล  และมีสถาบันต่าง ๆ ทำหน้าที่เหล่านี้ได้อย่างดีอยู่แล้ว  เช่น  หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (กลต.)    
       และทุกวันนี้  ก็ยังมีบุคลากรจากหลากหลายอาชีพ  ที่ผันตัวมาเป็น โค้ชทางการเงิน กันเป็นจำนวนมาก
       บทความนี้  ผมตั้งใจจะให้มุมมองถึง  วิธีการ ที่จะทำให้คนเรามีพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแกร่ง  
       เป็นแนวทาง เชิงป้องกันปัญหา  มากกว่าการ แก้ไขปัญหา ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินที่กำลังเป็นที่นิยมกันครับ
       วิธีการที่ว่า ก็คือ  การสอน  นั่นเองครับ
       การสอน   ผมมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก  เราทุกคนต้องเคยผ่านการถูกสอน  และอย่างน้อยก็ต้องเคยได้สอนอะไรใครบ้างไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตาม
       แล้ว กลุ่มเป้าหมาย ในการสอนของเราคือใคร  ผมแนะนำเลย ก็คือ  ลูก  ของเรานั่นเอง  
       เพราะโดยปกติแล้วเด็กส่วนใหญ่ก็อยากจะเป็นเหมือนอย่างพ่อแม่  มีพ่อแม่เป็นต้นแบบอยู่แล้วครับ
       Adam Khoo และ Keon Chee  สองนักเขียนจากหนังสือ  เลี้ยงลูกอย่างไรให้ใช้เงินเป็น หรือ Bringing Up Money Smart Kids  ได้แนะนำว่า  
       "...เพียงแค่เราทำให้ลูกเห็นว่าเราก็กำลังออมเงินอยู่เหมือนกัน  ก็สามารถกระตุ้นให้เขาอยากออมเงินมากขึ้นแล้ว โดยหากระปุกออมสินมาสักใบ (แบบใส)  และหยอดเงินให้เขาเห็น  แล้วอธิบายให้เขาฟังว่า  คุณกำลังเก็บเงินเพื่ออะไร  ลูกจะได้รู้ว่าการออมเงินเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ออมกัน.." 
       วิธีการข้างต้นก็คือ  การสอน  เรื่องเงิน  ให้กับลูกของเราอยู่นั่นเอง  เป็นการสอนและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง 
       ยิ่งเราสอนไปเรื่อย ๆ เรียนรู้ในสิ่งที่เราได้สอน  และได้รับฟังจากผลสะท้อนกลับยามที่เราลงมือทำ  เราก็จะได้เรียนรู้ประเด็นใหม่ ๆ จากลูกของเราไปพร้อม ๆ กัน
       แล้วเรา  จะเริ่มสอนลูกเราตอนไหน  ผมแนะนำให้ลองไปอ่านที่ Link นี้ครับ https://surasak-akkaraareesuk.blogspot.com/2018/12/blog-post_14.html   
       มีผู้รู้ (รวมถึงในหนังสือ  ที่ผมได้อ้างอิงข้างต้น)  ได้จัดทำเป็นกรอบเวลาตามอายุไว้เรียบร้อยแล้ว  ผมจึงได้คัดลอกมาให้ทุกท่านได้อ่านทบทวนกันครับ
       เคยอ่านคำคม ๆ อันหนึ่ง  ที่มีคนกล่าวไว้นานแล้วว่า...  
       ...มีอยู่สองสิ่งที่คนเรายิ่งทำบ่อย ๆ ทำซ้ำ ๆ แล้วจะยิ่งมีความเหนือชั้นกว่าคนอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ หนึ่งคือ "การขับรถ"  และสองคือ "การอ่านหนังสือ..."   
       และผมก็เชื่อเช่นนั้นเหมือนกันครับ 
       จริง ๆ แล้ว  ผมว่าคนเรา  ลองได้ทำอะไรบ่อย ๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปนาน ๆ จนเกิดกระบวนการการเรียนรู้  หรือที่เราชอบเรียกกันว่า ตกผลึกทางความคิด  เขาก็จะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ไปโดยปริยาย 
       เมื่อมีใครมาถามหรือปรึกษาเขาในเรื่องที่เขาเชี่ยวชาญแล้ว ตัวเขาในยามที่ต้องให้คำอธิบายหรือสอนงาน  เขาก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเหนือชั้น ในเรื่องของความรู้ที่ทั้งลึกและกว้าง  ที่เขาเชี่ยวชาญ ผ่านการสอนหรือการให้คำปรึกษาอย่างแน่นอนอยู่แล้วครับ  
       เนื่องจากเขาได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน
       การสอน  จึงเป็นวิธีการที่จะทำให้ตัวเราในฐานะผู้สอนและคนที่เราสอนหรือให้ความรู้เกิดความเชี่ยวชาญอย่างยิ่ง
       แล้วเรา  จะสอนอย่างไร  ผมขอแนะนำให้ลองอ่านที่ Link  นี้ครับ http://surasak-akkaraareesuk.blogspot.com/2018/12/blog-post_16.html 
       ผมมองว่าเป็น กรอบหรือเฟรมเวิร์ก  สำหรับใช้ในการสอนเรื่องเงินกับลูกของเราได้อย่างดีครับ   หากต้องการลงรายละเอียดเพิ่มเติม  เราก็ลองไปซื้อหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมกันได้ครับ 
       ดังนั้น  ไม่ว่าเราจะใช้เทคนิคในการสอนแบบใด  ถ้าเราได้ทำบ่อย ๆ ทำซ้ำ ๆ  ทำอย่างต่อเนื่อง   ก็จะทำให้  ตัวผู้สอนและตัวผู้เรียน  ต่างได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ จนพัฒนากลายเป็นความเชี่ยวชาญไปได้อย่างพร้อมเพรียงกัน 
       เป็นการ  สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินอย่างยั่งยืน  ที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนครับ


สุรศักดิ์  อัครอารีสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น