วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ให้เงินค่าขนม

       Adam Khoo กับ Keon Chee  เจ้าของผลงาน  Bringing Up Money Smart Kids (2015) หรือในชื่อภาษาไทยว่า  เลี้ยงลูกให้ใช้เงินเป็น  แปลโดย พรรณี  ชูจิรวงศ์  หนังสือขายดีอันดับหนึ่งของประเทศสิงคโปร์
       ได้แนะนำ  เคล็ดลับ  ที่สำคัญอันหนึ่ง  สำหรับใช้ในการเลี้ยงลูกให้แก่เรา ๆ ในฐานะพ่อ-แม่
       เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการ  ปลูกฝังทักษะเรื่องเงิน  ให้แก่ลูก ๆ ตั้งแต่ยังเล็ก  นั่นคือ  การให้เงินค่าขนม  แก่เด็ก
       ทั้งสองบอกว่า  วัยที่เหมาะสมที่สุด  ที่เราจะเริ่มให้เงินค่าขนมได้  เขาบอกว่าประมาณ 6 ขวบขึ้นไป  (เป็นช่วงเข้าเรียนชั้นประถม)
       เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เขาเริ่มต้องใช้เงินภายในโรงเรียน  และเริ่มเรียนรู้วิธีการบริหารเงิน  ว่าเงินใช้ทำอะไรได้บ้าง  ซื้ออะไรได้บ้าง  ฯลฯ
       โดยไม่ตัดประเด็นที่ว่า  หากลูกอายุมากกว่านี้  ก็ยังสามารถที่จะเริ่มต้นสอนเรื่องนี้ได้
       ทั้งสองยังบอกอีกว่า  พ่อแม่ควรบอกลูกเลยว่า ... 
       เราคาดหวังว่าจะให้เขานำเงินไปใช้อะไร  โดยไม่ให้พร่ำบอกว่า  เขาต้องซื้ออะไร
       แต่แนะนำให้เราวางกรอบกว้าง ๆ เป็นคำแนะนำแก่เด็ก  ให้เด็กได้รับทราบว่าเขาควรนำเงินไปใช้ โดยแบ่งเป็นสามส่วน  คือ  ออม - ใช้ - ปัน
       ทั้งนีั้  เพื่อป้องกันมิให้เขานำเงินไปซื้อของเล่น  หรือขนมหวาน  เช่น  ลูกกวาดที่ไม่มีคุณค่าอะไร
       ขณะเดียวกัน  พ่อแม่ควรมีการ ทบทวนรายจ่าย กับลูกอย่างต่อเนื่อง  โดยทั้งสองเห็นว่าควรทบทวนอย่างน้อยปีละสองครั้ง
       แนวทางข้างต้น  ถือเป็นรูปแบบ  การบริหารเงิน  อย่างง่ายที่เราทุกคนสามารถนำไปใชสอนเด็ก ๆ  ที่เป็นลูกหลานของเราได้อย่างดีมากเลยครับ
       ผู้เขียนทั้งสองยังให้มุมมองเพิ่มเติมอีกว่า  การให้เงินค่าขนม  กับเด็ก  ก็เปรียบได้กับการที่เด็กมีรายได้ประจำ  ซึ่งเราต้องให้อย่างต่อเนื่องและต้องไม่ขาดตอน
       เปรียบได้กับตัวเรา  ที่ยังตัองได้รับเงินเดือน  ตรงเวลา
       การมีรายได้ประจำนั้น  ผู้เขียนมองว่าเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้  วิธีการบริหารเงิน อย่างถูกต้อง
       เพราะเมื่อมีเงินเป็นของตนเอง  เขาจะได้เริ่มลองออมเงินเพื่อวันข้างหน้า
       และเปิดโอกาสให้พวกเขา  สามารถเลือกที่จะนำไปใช้จ่ายกับอะไร  รวมถึงเริ่มต้นหัดแบ่งปันให้กับผู้อื่น
       การให้เงินค่าขนมแก่เด็ก ๆ นั้น  จะช่วยให้โอกาสเขาได้เรียนรู้และลองทำอะไรที่ผิดพลาดได้
       โดยเฉพาะในขณะที่ผลเสียที่ตามมายังไม่มากมายนัก
       ที่สำคัญ  ทำให้เขาได้รู้จักประเมินทางเลือกในการใช้เงิน  ในยามที่เขาต้องการอะไรมากกว่าหนึ่งอย่าง
       และทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่ได้มาด้วยเงินของตนเอง
       ในมุมมองของผม  จากแนวทางที่ผู้เขียนได้นำเสนอมาในข้างต้น  ผมอยากเรียกว่าวิชา  บริหารเงิน 101  แบบของจริงเลยครับ
       การมีกรอบหรือเฟรมเวิร์ก (framework) คือ  ออม - ใช้ - ปัน  ถือเป็นการกำหนดวัตถุประสงค์การบริหารเงินที่กระชับ  ทำให้ง่ายต่อการจดจำและนำไปปฏิบัติ
       รวมถึงเราสามารถใช้เป็น กรอบในการวิเคราะห์ การบริหารเงินของตัวเราไปพร้อมกันด้วย 
       เช่น ... เราออมเงินได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ?
       การใช้จ่ายของเราใช้ในเรื่องที่เป็นประโยชน์หรือไม่ ?
       ถึงเวลาที่เราควรจะแบ่งปันให้แก่คนอื่นหรือยัง ? ... ฯลฯ
       หรือหากมองในภาพรวม  ... ทำไมเมื่อเราบริหารเงินด้วยวิธีการนี้แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ ?  ... หากบรรลุเป้าหมายแล้วเราจะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร...
       ซึ่งการที่เราบอกถึงวัตถุประสงค์ในการให้เงินค่าขนมแก่ลูกของเรา  ก็เหมือนเป็นการ ทำข้อตกลงเบื้องต้น  ให้เด็กได้รับทราบ
       เป็นเหมือนสัญญาที่เราในฐานะพ่อแม่ได้ทำกับลูกไปพร้อม ๆ กับการสอน การใช้เงินอย่างถูกวิธี
       ที่สำคัญที่สุด  เรายังมีการติดตามประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม  นั่นก็คือ  การทบทวนรายจ่ายกับลูกของเราอย่างน้อยปีละสองครั้ง
       เหมือนกับเป็นการทบทวนวัตถุประสงค์เมื่อแรกเริ่มระหว่างเราและลูกอย่างสม่ำเสมอ
       ถือเป็นการ  ให้ความรู้ทางการเงิน  ตั้งแต่พื้นฐานอย่างแท้จริงครับ
สุรศักดิ์  อัครอารีสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น