ภาษิตข้างต้น ฟังดูแล้วเป็นทุนนิยมมาก ๆ เลยใช่ไหมครับ แต่ถ้าเราพิจารณาดูดี ๆ ก็มีความจริงซ่อนอยู่ไม่น้อยทีเดียว
ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ "เลี้ยงลูกให้ใช้เงินเป็น (Bringing Up Money Smart Kids by Adam Khoo and Keon Chee : 2015. แปลโดย พรรณี ชูจิรวงศ์)" หนังสือขายดีอันดับหนึ่งของประเทศสิงคโปร์
เมื่อได้อ่านจนจบแล้ว (เล่มบาง ๆ อ่านง่ายมากครับ) ก็อยากแนะนำต่อให้หลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะคนที่กำลังเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ รวมถึงทุก ๆ ท่าน ได้ลองหามาอ่านกันครับ
เพราะเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ เหมือนกำลังตอบโจทย์ตามภาษิตที่ผมได้ยกขึ้นมาอ้างอิงตอนต้นของบทความนี้เลยครับ
ผู้เขียนทั้งสองมองว่า ยุคสมัยปัจจุบัน เวลา เป็นสิ่งที่หายากยิ่งกว่า เงินทอง
และพวกเราทุกคนในฐานะพ่อแม่ ยิ่งต้องการ คำแนะนำเรื่องเงิน อย่างมาก
พวกเราทุกคนต่างก็อยากรู้ว่า จะสอนลูกอย่างไรให้ใช้เงินเป็น และ รู้จักจัดการเงินของตนเองอย่างมีความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ลูก ๆ ของเราสามารถดำเนินชีวิตได้ต่อไปอย่างยั่งยืน
โดยที่การส่งมอบต่อของเรานั้น ต้องไม่เป็นการทำร้ายตัวเขา ให้เหมือนกับว่า ลูกของเราถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 โดยไม่ทันตั้งตัว
จนกลายเป็นการสร้างนิสัยที่ขาดวินัยทางการเงิน
หนังสือแบ่งเนื้อหาออกเป็น 11 บท โดยเริ่มตั้งแต่การกล่าวถึงความสำคัญว่าทำไมเราต้องสอนลูกของเราให้ใช้เงินเป็น
และจบด้วยบทสุดท้าย เรื่องการส่งผ่านความมั่งคั่งไปยังลูกของเรา โดยที่ไม่เป็นการทำร้ายพวกเขา ผ่านการจัดทำแผนมรดกด้วยเครื่องมือทางกฎหมายที่เรารู้จักกันดี คือ "พินัยกรรม"
ที่สำคัญ ในตอนท้ายแต่ละบทยังมี "แบบฝึกหัด" ให้เราได้ทดลองทดสอบตนเองว่า เราทำได้ดีแล้วหรือยัง พร้อมทั้งมีคำอธิบายให้เราสามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางเพิ่มเติมด้วยครับ
ประเด็นหนึ่งที่ผมชอบหนังสือเล่มนี้มาก ก็คือ....
ผู้เขียนได้นำเสนอ "กรอบ หรือ เฟรมเวิร์ก" สำหรับใช้เป็นหลักในการบริหารเงิน
เราสามารถนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการบริหารเงิน และใช้สอนลูกของเราได้อย่างกระชับและมีทิศทาง
มุมมองของผม ถือว่าเป็นกรอบหรือเฟรมเวิร์กที่จดจำง่าย และน่ารักทีเดียวครับ
กรอบหรือเฟรมเวิร์กที่ว่า ก็คือ ออม - ใช้ - ปัน ตามชื่อบทความนี้แหละครับ
Adam Khoo และ Keon Chee มองว่าความท้าทายของเราก็คือ ...จะทำอย่างไรที่จะทำให้การออม เป็นเรื่องที่พึงปรารถนาสำหรับลูกของเรา...
ซึ่งจากกรอบหรือเฟรมเวิร์กข้างต้นนั้น เราสามารถนำมาแบ่งแนวทางการบริหารเงินได้ออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ให้ตั้งเป้าหมายว่าเราจะออมไปเพื่ออะไร ให้เริ่มออมก่อนใช้จ่าย และสุดท้ายการรู้จักใช้เงินออม
โดยผู้เขียนทั้งสองเห็นว่า การตั้งเป้าหมายในการออมและลูกของเราได้ทำจนลุล่วงแล้ว ก็ถือเป็นความสำเร็จของพวกเขา ดังนั้นเราจึงควรปล่อยให้พวกเขามีความสุขและได้รับรางวัลจากความสำเร็จนั้น
นั่นคือ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้เงินบ้างจากเงินที่พวกเขาได้ออมไว้ โดยการอนุญาตให้ซื้อของเล่นหรือในสิ่งที่เขาได้ตั้งเป้าหมายไว้
ทั้งนี้ ไม่ตัดเรื่องการวางแผนการออมระยะยาว เมื่อเขาเติบโตขึ้น
Adam Khoo และ Keon Chee ยังบอกอีกว่า "การออมเงิน" ถือเป็นเพียงแค่ครึ่งเดียวของการสอนเรื่องเงินให้กับลูก
"การวางแผนการใช้จ่าย" ให้ถูกวิธี ถือเป็นเรื่องสำคัญถัดมา
เหตุผลก็คือ เพราะเงินส่วนใหญ่ของเราถูกจัดสรรไว้สำหรับการใช้จ่าย นั่นเอง
ดังนั้น การสอนให้ลูกของเราได้รู้ถึงวิธีการใช้จ่ายที่ชาญฉลาด จึงมีความสำคัญมาก ซึ่งอาจจะมากกว่าเรื่องการออมเงินอีกด้วย
เมื่อเราสอน "การวางแผนการใช้จ่าย" แล้ว ถัดจากนี้ เราต้องคอยสอดส่งดูแล และช่วยให้ลูกเราใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดตามแผนที่ได้วางไว้
และสุดท้ายในเรื่องของ "การให้" หรือ "การปัน" ผู้เขียนทั้งสองใช้คำทั้งสองนี้ในความหมายเดียวกัน
โดยเราจะต้องบอกเหตุผลแก่ลูกให้ได้ว่า ทำไมเราต้องปัน ทั้งที่เขาอาจจะยังมีเงินไม่พอใช้จ่าย
ผู้เขียนทั้งสองมองว่า บทเรียนนี้ต้องใช้ระยะเวลาซึมซับนานนับเป็นปี ๆ แต่จะเป็นประโยชน์กับเขาชั่วชีวิต
ในเรื่อง "การปัน" นั้น ทั้งสองท่านให้มุมมองว่า "การปันเป็นส่วนหนึ่งของความสุขที่แท้จริง"
โดยอ้างอิงแนวคิดจากนักจิตวิทยา "มาร์ติน เซลิกแมน" ประกอบ ได้กล่าวถึงมนุษย์ที่มีความต้องการมีชีวิต 3 แบบ คือ
ชีวิตที่รื่นรมย์ คือ การมีความรู้สึกในเชิงบวกกับ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ชีวิตที่ดี คือ การมีชีวิตที่เปี่ยมพลังในการค้นพบจุดแข็งและความสามารถของตนเอง และได้นำออกมาใช้งาน
และสุดท้าย ชีวิตที่มีความหมาย คือ การนำจุดแข็งและความสามารถของตนเอง มาใช้ทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง เช่น การสละเวลาให้กับชุมชนที่ตนอยู่อาศัย
ทั้งนี้ ทั้งสองเน้นย้ำว่า การให้หรือการปันนี้ จะต้องขึ้นอยู่กับความสบายใจและออกมาจากใจของลูกเราเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น