วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2561

อ่านวอร์เรน บัฟเฟตต์ แล้วสร้างพอร์ตลงทุนให้ยั่งยืน

       ได้อ่าน The Snow Ball : Warren Buffett and the Business of Life  หรือในชื่อภาษาไทยว่า  "เปิดปมชีวิต สู่วิธีคิดแบบ วอร์เรน บัฟเฟตต์"  ของสำนักพิมพ์ WE LEARNแต่งโดย  Alice Schroeder  และแปลโดย นรา  สุภัคโรจน์  อีกครั้ง  ก็ได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ เพิ่มเติม
       ก่อนอื่นขอนิยามคำว่า พอร์ตลงทุน  ของผมในที่นี้ก่อนครับ  พอร์ต  ที่ว่าก็คือบัญชีซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย  ของตัวเรานั่นเองครับ
       เมื่อได้อ่านทบทวนจากหนังสือเล่มดังกล่าวอีกครั้ง   (มี 2 เล่ม  อ่านสนุกดีนะครับ  ขอแนะนำเลย)  ก็ทำให้ผมเปลี่ยนมุมมองในการ บริหารพอร์ต ใหม่หมด   ทำให้ได้มุมมองใหม่ ๆ ในการลงทุนของตัวผมเอง
       จุดเริ่มต้นของตัว บัฟเฟตต์   ในโลกการเงินเริ่มขึ้น  ในช่วงที่เขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ ภายหลังที่ได้เรียนรู้เคล็ดวิชาจากอาจารย์ที่เขาเคารพเป็นอย่างยิ่ง เบนจามิน เกรแฮม ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย  เขาเริ่มมีแนวคิดที่จะรวบรวมเงินมาบริหารเพื่อเข้าไปซื้อ-ขาย หุ้น 
       ด้วยวัยเพียง 26 ปี บัฟเฟตต์ ก็ใช้แนวทางการระดมทุน  เพื่อจัดตั้งกองทุนขึ้นมาบริหารด้วยตัวเขาเอง  โดยเริ่มต้นจากเงินทุนในหมู่ญาตพี่น้อง  ก่อนที่ชื่อเสียงจะขจรขจาย  จนมีคนนำเงินมาให้เขาบริหารกันอย่างมากมาย  จนต้องตั้งเป็นกองทุนย่อย ๆ ถึง 11 กองทุน
       แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง  (ช่วงต้นทศวรรษที่ 70)  วอร์เรน บัฟเฟตต์  ก็ประกาศปิดกองทุน  ซึ่งในช่วงของการปิดกองทุนนั้นเป็นช่วงพีคสุด ๆ ของกองทุนที่เขาบริหารพอดี  คือ  มีกำไรอย่างมหาศาล (ในสมัยนั้น)  ขณะเดียวกันตลาดก็เริ่มทรุดตัวลง (ขาลง)  ตามภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงเวลานั้นพอดี
       หลังจากนั้นเขานำเงินกำไรที่ได้มาบริหารในลักษณะส่วนตัว  ผ่านบริษัทที่เขาซื้อไว้ คือ Berkshire Hathaway  ซึ่งในกาลต่อมาอีกหลายปีจนถึงปัจจุบัน  เขาก็บริหารจนบริษัทกลายเป็น Holding Company ที่ใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบัน   และตัวเขาเองก็กลายเป็นมหาเศรษฐีลำดับ Top 5 ของโลก
       ในมุมมองผม  ถือเป็นสุดยอดของผลงานจากการสร้าง นวัตกรรมทางการเงิน  ที่เกิดขึ้นโดยการ ต่อยอดจากทรัพยากรเดิม  ที่สามารถเล่าขานได้ไม่มีวันสิ้นสุดเลยทีเดียว 
       และถือเป็นการใช้กลยุทธ์ Select & Focus ที่แสนคลาสสิค  โดยมุ่งเน้นไปที่การบริหารบริษัทเดียวให้เติบโตผ่านการซื้อกิจการ (บริษัท) ต่าง ๆ  รวมถึงการฟื้นฟูกิจการจนกลับมามีกำไร  จนนำไปสู่การปันผลกลับสู่บริษัทแม่  ซึ่งก็คือ Berkshire Hathaway นั่นเอง
       รายละเอียดของแต่ละ กลยุทธ์  หรือ  วิธีการ  ในการเข้าซื้อในแต่ละบริษัท  ไปจนถึงวิธีการบริหารบริษัทภายหลังที่ได้ซื้อบริษัทมาว่า บัฟเฟตต์  ทำอย่างไรนั้น  อยากแนะนำให้ทุกท่านที่สนใจได้ลองไปหาอ่านกันครับ  มีรายละเอียดที่น่าสนใจ  สนุก  และน่าตื่นเต้นมากมายครับ
       หลาย ๆ เคส  น่าจะเป็นแนวทางระดับขึ้นหิ้ง  ในโรงเรียนสอนธุรกิจกันเลยทีเดียว  ดังเช่น  ตอนที่เขาเข้าซื้อกิจการเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาเหนือในเนบราสกา  หรือการมอบหมายคนเข้าไปฟื้นฟูกิจการบริษัทประกัน GEICO   ไปจนถึงการเข้าไปแก้ปัญหาในบริษัทวาณิชธนกิจ Salomon Inc.
       ประเด็นส่วนตัวที่ได้เรียนรู้  เป็นเรื่องของการ  มองภาพรวม  ที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานกับ การบริหารพอร์ตลงทุน  ของเราได้ไม่น้อยเลยทีเดียว   ได้ปรับมุมมองใหม่ (Mindset) ในการลงทุนอีกครั้งหนึ่ง   
       เป็นการบริหาร พอร์ต ของตัวเรา  เหมือนกับกำลัง  บริหารบริษัท  ของตนเองครับ
       กำหนดให้พอร์ตของเรา  เหมือนกับ Holding Company  ที่จะเข้าไปซื้อกิจการ (หุ้น) ภายหลังที่เราได้พิจารณาข้อมูลต่าง ๆ อย่างดีแล้ว
       ต้องกำหนดวงเงินงบประมาณ ว่าเราจะเข้าไปลงทุนในวงเงินเท่าไร  แล้วกำหนด จังหวะ  ในการเข้าซื้อ  ผ่านแนวทางการทยอยซื้อ  เช่น  ทีละ 100 หุ้น  (กรณีพอร์ตเรามีขนาดเล็ก)  ดีไหม
       ควรกำหนดจำนวนบริษัท (ประเภทธุรกิจของหุ้นแต่ละตัว)  ที่เราจะเข้าซื้ออย่างไร
       "...โลกจะก้าวหน้า  ด้วยธุรกิจขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ..."  
       เป็นคำคมคำหนึ่ง  ที่ผมได้ยินมาเนิ่นนานแล้ว  ซึ่งเราสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการลงทุนก็ได้ครับ  
       หรือแม้กระทั่ง  แนวทางแบบที่วอร์เรน ทำ   เช่น  ธุรกิจประกันภัย  ที่เขาชื่นชอบมาก  เพราะเป็นธุรกิจที่มีเงินสดคงเหลือสูงมาก  สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจต่าง ๆ ได้อีกมากมาย
       เราไม่จำเป็นต้องรีบซื้อ-รีบขาย  ค่อย ๆ ดูแลให้พอร์ตเติบโต   โดยอิงบนพื้นฐานของช่วงเวลาการปันผลและการเติบโตของดัชนีตลาด 
       มองพอร์ต เป็นภาพรวม  ในการเข้าไปซื้อหุ้น  โดยอ้างอิงปัจจัยต่าง ๆ  เช่น  งบดุล  ดัชนีตลาด  ช่วงเวลาการปันผล  ราคาเฉลี่ย  ฯลฯ  เพื่อกำหนดจังหวะในการ  ซื้อ-ขาย
       ".....วิธีที่ดีที่สุดในการทำเงินจากตลาดหุ้น  คือ  การซื้อหุ้นตามดัชนีโดยตรง...นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามการเติบโตของเศรษฐกิจ.."  ชาร์ลส์  เอลลิส  อดีตที่ปรึกษาทางการเงิน  ได้กล่าวไว้       
       เมื่อพอร์ตติดลบตามดัชนี  จะใช้กลยุทธ์ Select & Focus ว่าบริษัท (หุ้น)  ไหน  ที่เราจะเพิ่มทุน  (เฉลี่ยราคา)  ไม่จำเป็นต้องทำทุกตัวดีไหม  
       เพราะเป็นหุ้นที่เราคัดสรรมาดีแล้ว  และขนาดหรือราคาเมื่อเทียบกับเงินทุนที่เรามีในแต่ละช่วงเวลา  อาจจะไม่เพียงพอในการทำกับหุ้นบางตัวก็เป็นไปได้
       เมื่อพอร์ตมีกำไร (บวก)  ตามดัชนี  เราจะใช้กลยุทธ์ Select & Focus  โดยดูบริษัท (หุ้น) ตัวไหน  ที่เราคิดว่ากำไรเกินหรือเป็นไปตามเป้าหมายที่เรากำหนดไว้บ้าง  
       แล้วเราควรจะขายออกไปดีไหม  เพื่อดึงเงินสดกลับมาและทำให้พอร์ตเราใหญ่ขึ้น
       หรือเราจะไม่ขายเลย  และบริหารให้บริษัทเติบโตดังเช่นที่วอร์เรน  บัฟเฟตต์ ทำ  

สุรศักดิ์  อัครอารีสุข

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

สอนลูกเรื่องเงิน

       "หัวใจสำคัญของการสอน คือ ความเต็มใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่"
       วลีข้างต้น  ผมนำมาจากภาพยนต์เรื่อง The Rewrite (2014) หรือในชื่อไทยว่า  "เขียนอย่างไรให้คนมารักกัน"  ที่นำแสดงโดย ฮิ้วจ์ แกรนท์ (Hugh Grant) 
       ซึ่งผมมองว่าเป็นคำพูดที่เฉียบคมมากที่หนังได้นำเสนอให้เราได้รับฟังกัน 
       ตัวหนังก็สนุกดีนะครับในมุมมองผม  อาจจะไม่ถูกใจคนที่อายุยังน้อยอยู่บ้าง  แต่ผมว่าก็โรแมนติกและน่ารักดี  
       ที่สำคัญเพราะ การกระทำ ของตัวละครทั้งหมดในเรื่อง  ตรงกับวลีข้างต้นอย่างมากเลยครับ 
       ในเรื่อง  ความรู้ทางการเงิน  ผมคิดว่าทุกวันนี้  เราแทบจะไม่ต้องสอนหรือแนะนำกันในเรื่องนี้กันอีกแล้วล่ะครับ   โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า  การสร้างความมั่นคงทางการเงิน หรือ การสร้างความมั่งคั่ง ให้กับตัวเราในช่วงเกษียณนั้นเราต้องทำอะไรบ้าง 
       เนื่องจากความรู้เหล่านี้เพียงแค่คลิกเดียว  เราก็รับทราบข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตที่เป็นแหล่งความรู้อันกว้างใหญ่ไพศาล  และมีสถาบันต่าง ๆ ทำหน้าที่เหล่านี้ได้อย่างดีอยู่แล้ว  เช่น  หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (กลต.)    
       และทุกวันนี้  ก็ยังมีบุคลากรจากหลากหลายอาชีพ  ที่ผันตัวมาเป็น โค้ชทางการเงิน กันเป็นจำนวนมาก
       บทความนี้  ผมตั้งใจจะให้มุมมองถึง  วิธีการ ที่จะทำให้คนเรามีพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแกร่ง  
       เป็นแนวทาง เชิงป้องกันปัญหา  มากกว่าการ แก้ไขปัญหา ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินที่กำลังเป็นที่นิยมกันครับ
       วิธีการที่ว่า ก็คือ  การสอน  นั่นเองครับ
       การสอน   ผมมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก  เราทุกคนต้องเคยผ่านการถูกสอน  และอย่างน้อยก็ต้องเคยได้สอนอะไรใครบ้างไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตาม
       แล้ว กลุ่มเป้าหมาย ในการสอนของเราคือใคร  ผมแนะนำเลย ก็คือ  ลูก  ของเรานั่นเอง  
       เพราะโดยปกติแล้วเด็กส่วนใหญ่ก็อยากจะเป็นเหมือนอย่างพ่อแม่  มีพ่อแม่เป็นต้นแบบอยู่แล้วครับ
       Adam Khoo และ Keon Chee  สองนักเขียนจากหนังสือ  เลี้ยงลูกอย่างไรให้ใช้เงินเป็น หรือ Bringing Up Money Smart Kids  ได้แนะนำว่า  
       "...เพียงแค่เราทำให้ลูกเห็นว่าเราก็กำลังออมเงินอยู่เหมือนกัน  ก็สามารถกระตุ้นให้เขาอยากออมเงินมากขึ้นแล้ว โดยหากระปุกออมสินมาสักใบ (แบบใส)  และหยอดเงินให้เขาเห็น  แล้วอธิบายให้เขาฟังว่า  คุณกำลังเก็บเงินเพื่ออะไร  ลูกจะได้รู้ว่าการออมเงินเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ออมกัน.." 
       วิธีการข้างต้นก็คือ  การสอน  เรื่องเงิน  ให้กับลูกของเราอยู่นั่นเอง  เป็นการสอนและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง 
       ยิ่งเราสอนไปเรื่อย ๆ เรียนรู้ในสิ่งที่เราได้สอน  และได้รับฟังจากผลสะท้อนกลับยามที่เราลงมือทำ  เราก็จะได้เรียนรู้ประเด็นใหม่ ๆ จากลูกของเราไปพร้อม ๆ กัน
       แล้วเรา  จะเริ่มสอนลูกเราตอนไหน  ผมแนะนำให้ลองไปอ่านที่ Link นี้ครับ https://surasak-akkaraareesuk.blogspot.com/2018/12/blog-post_14.html   
       มีผู้รู้ (รวมถึงในหนังสือ  ที่ผมได้อ้างอิงข้างต้น)  ได้จัดทำเป็นกรอบเวลาตามอายุไว้เรียบร้อยแล้ว  ผมจึงได้คัดลอกมาให้ทุกท่านได้อ่านทบทวนกันครับ
       เคยอ่านคำคม ๆ อันหนึ่ง  ที่มีคนกล่าวไว้นานแล้วว่า...  
       ...มีอยู่สองสิ่งที่คนเรายิ่งทำบ่อย ๆ ทำซ้ำ ๆ แล้วจะยิ่งมีความเหนือชั้นกว่าคนอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ หนึ่งคือ "การขับรถ"  และสองคือ "การอ่านหนังสือ..."   
       และผมก็เชื่อเช่นนั้นเหมือนกันครับ 
       จริง ๆ แล้ว  ผมว่าคนเรา  ลองได้ทำอะไรบ่อย ๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปนาน ๆ จนเกิดกระบวนการการเรียนรู้  หรือที่เราชอบเรียกกันว่า ตกผลึกทางความคิด  เขาก็จะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ไปโดยปริยาย 
       เมื่อมีใครมาถามหรือปรึกษาเขาในเรื่องที่เขาเชี่ยวชาญแล้ว ตัวเขาในยามที่ต้องให้คำอธิบายหรือสอนงาน  เขาก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเหนือชั้น ในเรื่องของความรู้ที่ทั้งลึกและกว้าง  ที่เขาเชี่ยวชาญ ผ่านการสอนหรือการให้คำปรึกษาอย่างแน่นอนอยู่แล้วครับ  
       เนื่องจากเขาได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน
       การสอน  จึงเป็นวิธีการที่จะทำให้ตัวเราในฐานะผู้สอนและคนที่เราสอนหรือให้ความรู้เกิดความเชี่ยวชาญอย่างยิ่ง
       แล้วเรา  จะสอนอย่างไร  ผมขอแนะนำให้ลองอ่านที่ Link  นี้ครับ http://surasak-akkaraareesuk.blogspot.com/2018/12/blog-post_16.html 
       ผมมองว่าเป็น กรอบหรือเฟรมเวิร์ก  สำหรับใช้ในการสอนเรื่องเงินกับลูกของเราได้อย่างดีครับ   หากต้องการลงรายละเอียดเพิ่มเติม  เราก็ลองไปซื้อหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมกันได้ครับ 
       ดังนั้น  ไม่ว่าเราจะใช้เทคนิคในการสอนแบบใด  ถ้าเราได้ทำบ่อย ๆ ทำซ้ำ ๆ  ทำอย่างต่อเนื่อง   ก็จะทำให้  ตัวผู้สอนและตัวผู้เรียน  ต่างได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ จนพัฒนากลายเป็นความเชี่ยวชาญไปได้อย่างพร้อมเพรียงกัน 
       เป็นการ  สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินอย่างยั่งยืน  ที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนครับ


สุรศักดิ์  อัครอารีสุข

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ออม ใช้ ปัน

       มีภาษิตญี่ปุ่นบทหนึ่ง  กล่าวไว้ว่า...  "พ่อแม่นั้นให้กำเนิดเรา  แต่เงินตราเท่านั้นที่ทำให้ชีวิตอยู่รอด"
       ภาษิตข้างต้น  ฟังดูแล้วเป็นทุนนิยมมาก ๆ เลยใช่ไหมครับ  แต่ถ้าเราพิจารณาดูดี ๆ ก็มีความจริงซ่อนอยู่ไม่น้อยทีเดียว
       ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ  "เลี้ยงลูกให้ใช้เงินเป็น (Bringing Up Money Smart Kids by Adam Khoo and Keon Chee : 2015.  แปลโดย พรรณี  ชูจิรวงศ์)"  หนังสือขายดีอันดับหนึ่งของประเทศสิงคโปร์

       เมื่อได้อ่านจนจบแล้ว (เล่มบาง ๆ อ่านง่ายมากครับ)  ก็อยากแนะนำต่อให้หลาย ๆ ท่าน  โดยเฉพาะคนที่กำลังเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่  รวมถึงทุก ๆ ท่าน  ได้ลองหามาอ่านกันครับ
       เพราะเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้  เหมือนกำลังตอบโจทย์ตามภาษิตที่ผมได้ยกขึ้นมาอ้างอิงตอนต้นของบทความนี้เลยครับ
       ผู้เขียนทั้งสองมองว่า  ยุคสมัยปัจจุบัน  เวลา  เป็นสิ่งที่หายากยิ่งกว่า  เงินทอง 
       และพวกเราทุกคนในฐานะพ่อแม่ ยิ่งต้องการ  คำแนะนำเรื่องเงิน  อย่างมาก
       พวกเราทุกคนต่างก็อยากรู้ว่า  จะสอนลูกอย่างไรให้ใช้เงินเป็น  และ  รู้จักจัดการเงินของตนเองอย่างมีความรับผิดชอบ
       ทั้งนี้  ก็เพื่อให้ลูก ๆ ของเราสามารถดำเนินชีวิตได้ต่อไปอย่างยั่งยืน
       โดยที่การส่งมอบต่อของเรานั้น  ต้องไม่เป็นการทำร้ายตัวเขา  ให้เหมือนกับว่า  ลูกของเราถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1  โดยไม่ทันตั้งตัว
       จนกลายเป็นการสร้างนิสัยที่ขาดวินัยทางการเงิน
       หนังสือแบ่งเนื้อหาออกเป็น 11 บท  โดยเริ่มตั้งแต่การกล่าวถึงความสำคัญว่าทำไมเราต้องสอนลูกของเราให้ใช้เงินเป็น
       และจบด้วยบทสุดท้าย  เรื่องการส่งผ่านความมั่งคั่งไปยังลูกของเรา  โดยที่ไม่เป็นการทำร้ายพวกเขา  ผ่านการจัดทำแผนมรดกด้วยเครื่องมือทางกฎหมายที่เรารู้จักกันดี คือ  "พินัยกรรม"
       ที่สำคัญ  ในตอนท้ายแต่ละบทยังมี  "แบบฝึกหัด"  ให้เราได้ทดลองทดสอบตนเองว่า  เราทำได้ดีแล้วหรือยัง  พร้อมทั้งมีคำอธิบายให้เราสามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางเพิ่มเติมด้วยครับ
       ประเด็นหนึ่งที่ผมชอบหนังสือเล่มนี้มาก  ก็คือ....
       ผู้เขียนได้นำเสนอ  "กรอบ หรือ เฟรมเวิร์ก"  สำหรับใช้เป็นหลักในการบริหารเงิน
       เราสามารถนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการบริหารเงิน  และใช้สอนลูกของเราได้อย่างกระชับและมีทิศทาง
       มุมมองของผม  ถือว่าเป็นกรอบหรือเฟรมเวิร์กที่จดจำง่าย และน่ารักทีเดียวครับ
       กรอบหรือเฟรมเวิร์กที่ว่า  ก็คือ  ออม - ใช้ - ปัน  ตามชื่อบทความนี้แหละครับ
       Adam Khoo และ Keon Chee  มองว่าความท้าทายของเราก็คือ  ...จะทำอย่างไรที่จะทำให้การออม  เป็นเรื่องที่พึงปรารถนาสำหรับลูกของเรา...
       ซึ่งจากกรอบหรือเฟรมเวิร์กข้างต้นนั้น  เราสามารถนำมาแบ่งแนวทางการบริหารเงินได้ออกเป็น 3 ขั้นตอน  ได้แก่  ให้ตั้งเป้าหมายว่าเราจะออมไปเพื่ออะไร  ให้เริ่มออมก่อนใช้จ่าย  และสุดท้ายการรู้จักใช้เงินออม
       โดยผู้เขียนทั้งสองเห็นว่า  การตั้งเป้าหมายในการออมและลูกของเราได้ทำจนลุล่วงแล้ว  ก็ถือเป็นความสำเร็จของพวกเขา  ดังนั้นเราจึงควรปล่อยให้พวกเขามีความสุขและได้รับรางวัลจากความสำเร็จนั้น
       นั่นคือ  เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้เงินบ้างจากเงินที่พวกเขาได้ออมไว้  โดยการอนุญาตให้ซื้อของเล่นหรือในสิ่งที่เขาได้ตั้งเป้าหมายไว้
       ทั้งนี้  ไม่ตัดเรื่องการวางแผนการออมระยะยาว  เมื่อเขาเติบโตขึ้น
       Adam Khoo และ Keon Chee  ยังบอกอีกว่า  "การออมเงิน"  ถือเป็นเพียงแค่ครึ่งเดียวของการสอนเรื่องเงินให้กับลูก
       "การวางแผนการใช้จ่าย"  ให้ถูกวิธี  ถือเป็นเรื่องสำคัญถัดมา  
       เหตุผลก็คือ  เพราะเงินส่วนใหญ่ของเราถูกจัดสรรไว้สำหรับการใช้จ่าย นั่นเอง
       ดังนั้น  การสอนให้ลูกของเราได้รู้ถึงวิธีการใช้จ่ายที่ชาญฉลาด  จึงมีความสำคัญมาก  ซึ่งอาจจะมากกว่าเรื่องการออมเงินอีกด้วย
       เมื่อเราสอน  "การวางแผนการใช้จ่าย" แล้ว  ถัดจากนี้  เราต้องคอยสอดส่งดูแล  และช่วยให้ลูกเราใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดตามแผนที่ได้วางไว้
       และสุดท้ายในเรื่องของ "การให้" หรือ "การปัน"  ผู้เขียนทั้งสองใช้คำทั้งสองนี้ในความหมายเดียวกัน
       โดยเราจะต้องบอกเหตุผลแก่ลูกให้ได้ว่า  ทำไมเราต้องปัน  ทั้งที่เขาอาจจะยังมีเงินไม่พอใช้จ่าย
       ผู้เขียนทั้งสองมองว่า  บทเรียนนี้ต้องใช้ระยะเวลาซึมซับนานนับเป็นปี ๆ  แต่จะเป็นประโยชน์กับเขาชั่วชีวิต
       ในเรื่อง  "การปัน"  นั้น  ทั้งสองท่านให้มุมมองว่า  "การปันเป็นส่วนหนึ่งของความสุขที่แท้จริง"
       โดยอ้างอิงแนวคิดจากนักจิตวิทยา  "มาร์ติน  เซลิกแมน"  ประกอบ  ได้กล่าวถึงมนุษย์ที่มีความต้องการมีชีวิต 3 แบบ  คือ
              ชีวิตที่รื่นรมย์  คือ  การมีความรู้สึกในเชิงบวกกับ  อดีต  ปัจจุบัน  และอนาคต
              ชีวิตที่ดี  คือ  การมีชีวิตที่เปี่ยมพลังในการค้นพบจุดแข็งและความสามารถของตนเอง  และได้นำออกมาใช้งาน
              และสุดท้าย  ชีวิตที่มีความหมาย  คือ  การนำจุดแข็งและความสามารถของตนเอง  มาใช้ทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง  เช่น  การสละเวลาให้กับชุมชนที่ตนอยู่อาศัย
       ทั้งนี้  ทั้งสองเน้นย้ำว่า  การให้หรือการปันนี้  จะต้องขึ้นอยู่กับความสบายใจและออกมาจากใจของลูกเราเอง

สุรศักดิ์  อัครอารีสุข

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2561

สอนลูกบริหารเงินตามอายุ

       บทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์ รุงเทพธุรกิจ เมื่อนานมาแล้ว : ฉบับวันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2548  เรื่อง  สอนลูกบริหารเงินตามอายุ  ซึ่งได้อ่านแล้วชอบมาก  
       จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อเผื่อเป็นประโยชน์แก่เรา ๆ ท่าน ๆ  ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจทีเดียวครับ
       ทันทีที่เขาสามารถนับเลขได้  พ่อแม่ก็สามารถสอนให้เขารู้จักใช้เงินได้แล้ว  หลังจากนั้น  ก็ค่อย ๆ  เสริมบทเรียนทางการเงินบทใหม่ ๆ ให้ตามอายุที่เพิ่มขึ้นแบบง่าย ๆ  ดังนี้
            1. ช่วงเด็กก่อนวัยเรียน     ให้เข้าใจว่าการซื้อของต้องใช้เงิน  พยายามใช้จ่ายด้วยเงินสดต่อหน้าลูก  เพราะเครดิตการ์ดเป็นเรื่องที่  นามธรรม เกินไปสำหรับเด็กวัยนี้
            2.  เด็กวัย 3-5  ขวบ  เริ่มให้ลูกเก็บออมเงินในภาชนะที่  โปร่งใส  (ไม่ใช่กระปุกออมสินทึบ ๆ  แบบเก่า)  เพื่อที่เขาจะมองเห็นเงินได้  และตื่นเต้นเมื่อเห็นมันเพิ่มขึ้นจนเกือบจะเต็ม
            3.  เด็กวัย 5-7  ขวบ  (ในหนังสือ เลี้ยงลูกให้ใช้เงินเป็น. โดย Adam Khoo & Keon Chee" บอกว่า ให้เริ่มที่ 6 ขวบ เป็นวัยที่เหมาะสม) 
            เมื่อลูกเริ่มเข้าโรงเรียนแล้ว  ก็เป็นเวลาเหมาะสมที่จะเริ่มให้เงินค่าขนมกับลูกอย่างจริงจัง  และสม่ำเสมอ  โดยอาจเริ่มเป็นรายวันก่อน  สอนให้เขารู้จักทำงบประมาณใช้เงิน  และออมเงินในเวลาเดียวกัน
            4.  เด็กวัย 8-10  ขวบ  พาลูกไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร   ให้เขาฝากเพิ่มเป็นประจำ  และอธิบายด้วยว่าธนาคารจะให้ดอกเบี้ยกับเขาเป็นการตอบแทน  ให้ลูกเรียนรู้เรื่องการทำงบประมาณ  ด้วยการให้เขาเข้ามีส่วนร่วม  (รับรู้)  ในการตัดสินใจทางการเงินของครอบครัว 
            นอกจากนี้  แนะนำให้เขารู้จักความหมายของคำว่า  ความเสี่ยง  และ  เงินรางวัล  ไว้ด้วย
            5.  เด็กวัย  11-13  ขวบ ในช่วงระหว่างชั้นประถมถึงมัธยมต้น เด็ก ๆ  จะสามารถเข้าใจโครงสร้างพื้นฐานของตลาดหุ้นได้แล้ว  ถ้าเขามีความสนใจ  ก็ให้ลองเลือกมาสัก 1-2 ตัว  เปลี่ยนค่าขนมจากรายวันเป็นรายสัปดาห์  และเป็นเดือนละ 2 ครั้ง  และให้เด็ก ๆ  ลองเริ่มหาเงินจากนอกบ้านบ้าง
            6.  เด็กวัย  13-15  ปี  แนะนำให้ลูกรู้จักกับ  หุ้นกู้  และแสดงให้เขาเห็นว่าจะทำการหาข้อมูลหุ้น  จะช่วยให้เขาตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น
            7.  เด็กวัย  16-18  ปี  เมื่อลูกกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย  ก็เริ่มมองอนาคตได้แล้ว  อาจให้เขาดูแลบัญชีเพื่อการศึกษาที่คุณเปิดไว้  เมื่อหลายปีก่อน  ด้วยตัวเอง  ลูกของคุณมีงานพาร์ทไทม์ทำหรือยัง  ถ้าเขาเริ่มมีรายได้แล้ว  ก็อย่าลืมสอนเรื่อง  การเสียภาษีด้วย
            8.  อันนี้เพิ่มเติมหลังจากได้อ่านเจอในหนังสือ  “คัมภีร์การค้าของชาวยิว, เขียนโดย ไอรีน เป, ได้บอกว่า...
            ....ในวัยนี้ (16-18 ปี) หรือในช่วง 13-15 ปี  พ่อแม่อาจจะสอนให้เขาเปิดบัญชีเงินบริจาคไว้เลยก็ได้ เป็นการออมสะสมไว้ทุกเดือน (โดยตัวเขาอาจจะมีเงินทุนเริ่มต้นใส่เข้ามาก่อนก็ได้)...  
            ซึ่งไปจำเป็นต้องบริจาคทุกเดือน  อธิบายให้เขาฟังว่าจะทำให้เรามีเงินพร้อมสำหรับการบริหารเพื่อการบริจาคแก่เพื่อนมนุษย์ที่ลำบากกว่าเราในกรณีต่าง ๆ 
            การสอนเรื่องบริจาคให้แก่เด็กได้เรียนรู้  จะทำให้เขาคำนึงถึงการทำเพื่อสังคมแต่เด็ก


สุรศักดิ์  อัครอารีสุข

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561

Disruptive

       มีโอกาสหยิบหนังสือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (The Fourth Industrial Revolution, เคล้าส์ ชวาบ. ผู้ก่อตั้งและประธานสภาเศรษฐกิจโลก : World Economic Forum : 2016, แปลโดย ศรรวริศา เมฆไพบูลย์)  ขึ้นมาอ่าน  ก็สัมผัสถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ที่ผู้เขียนได้กล่าวถึง

       จากข่าวการปิดตัวการให้บริการของธนาคารสาขาจำนวนมาก  หรือการยุติการผลิตของนิตยสารเล่มต่าง ๆ และหันไปให้บริการผ่านสื่อเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต เช่น การเปิดเพจเฟซบุ้คในนิตยสารจำนวนไม่น้อย  

       ล่าสุดที่สถานีโทรทัศน์ชื่อดังในอดีตที่ต้องมีการปลดพนักงานบางส่วนออกเพื่อปรับแนวทางการบริหารและการให้บริการด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ  

       ถือเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจในปัจจุบัน  และเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

       ความท้าทายต่อแนวทางดั้งเดิม (Disruptive)  เป็นเสมือนความเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลันและรุนแรงในโลกปัจจุบัน  และเกิดขึ้นแทบในทุกวงการ  ยากที่จะมีใครทานต่อสิ่งเหล่านี้ได้  

       ด้วยโลกได้เข้าสู่ช่วงต้นของ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่  ตามที่หนังสือได้กล่าวไว้  โลกที่กำลังถูกผลักดันให้เข้าสู่จุดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่   

       มีข้อมูลว่า “พลังในการประมวลผลของกูเกิลในการตอบเสิร์ชของเราแต่ละครั้งในขณะนี้ เทียบเท่ากับการประมวลผลของโครงการอะพอลโลทั้งภาคพื้นดินและอวกาศ”  

       และยังมีการทำนายว่า ภายในปี 2025 “บนท้องถนนในอเมริกา ณ ขณะนี้ มีรถยนต์ไร้คนขับวิ่งถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในฮ่องกงมีการใช้สมองกล (AI) มาร่วมเป็นกรรมการบริษัทแล้ว” ฟังดูแล้วน่าทึ่งมาก.. 

       ก็ไม่น่าแปลกใจที่สัญลักษณ์ที่เป็นเสมือนตัวแทนของโลกยุคก่อน เช่น นิตยสารต่าง ๆ  หรือธนาคารประเภทให้บริการเป็นสาขา  กำลังจางหายไปจากที่เราเคยสัมผัสได้ และอาจจะไม่อยู่ในความทรงจาของเด็ก ๆ รุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นมาในอนาคต

       อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ก็นับเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้ผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการในภาคต่าง ๆ สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นเพื่อใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร  หรือการให้บริการ  รวมถึงการเป็นแหล่งข้อมูลในการเผยแพร่เรื่องราวและข่าวสารในแวดวงที่ผู้บริโภคสนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

       ที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในลักษณะก้าวกระโดดกันอย่างชัดเจนมากก็คือ ในภาคธนาคารที่ในปัจจุบัน  ผมคิดว่าเกือบทุกท่านจะต้องเคยใช้งานการชำระเงินผ่านระบบพร้อมพ์เพย์ และหรือระบบ QR Code ที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายที่เราสามารถพบเห็นได้แม้กระทั่งร้านค้าริมทาง

       ถือเป็นการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิตอลใหม่ มาใช้งานร่วมกับผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตในสาขาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

       เมื่อความเปลี่ยนแปลงมาถึงเราจะรับมืออย่างไร”  ผลิตภัณฑ์หรือสินค้า  ไปจนถึงผู้ให้บริการในภาคต่าง ๆ ที่เราใช้งานได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการรองรับความเปลี่ยนแปลงผ่านเครื่องมือใหม่ ๆ  

       ทำให้เห็นถึงความรับผิดชอบร่วมกันของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่จะร่วมกันผลักดันและพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน

       ทั้งตื่นเต้นและท้าทายต่อความเปลี่ยนแปลงต่ออนาคตที่จะมาถึงทีเดียวครับ

สุรศักดิ์  อัครอารีสุข

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ถ่ายทอดประสบการณ์

       กิจกรรมหนึ่งที่ผมอยากให้มีและเกิดขึ้นภายในหน่วยงานต่าง ๆ  ไม่จำกัดว่าต้องเป็นหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานเอกชน คือ การจัดให้มีการถก  แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดประสบการณ์ ไปจนถึงมุมมองและความคิดในเรื่องการบริหารเงิน (ส่วนบุคคล) ขึ้นภายในหน่วยงาน  

       ซึ่งลักษณะหรือรูปแบบการจัดนั้น ไม่จำเป็นต้องจัดใหญ่แต่อย่างใด  อาจเป็นการจัดสัมมนาเล็ก ๆ ที่ประชาสัมพันธ์ในองค์กรหากใครสนใจ ก็เดินเข้ามาฟังได้  โดยเริ่มต้นที่คลาสเล็ก ๆ สัก 4-6 คน   ก็เพียงพอ  

       โดยวิทยากรนั้นก็ใช้การเชิญบุคลากรในหน่วยงานที่องค์กรเล็งเห็นว่ามีความเป็น Best Practice หรือคนต้นแบบที่ดี  ที่น่าจะมีความรู้ในระดับหนึ่งมาถ่ายทอด  ซึ่งอาจจะจัดให้มีลักษณะเช่นนี้สักเดือนละครั้ง

       การจัดให้มีสัมมนาแลกเปลี่ยนลักษณะนี้ในองค์กร  แรก ๆ อาจจะดูขัดเขินในตอนแรก  แต่ประโยชน์สุดท้ายจะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรในองค์กรในระยะยาวโดยเฉพาะกับกลุ่มพนักงานที่พึ่งเริ่มต้นทำงาน  ที่จะทำให้เขามีทิศทางอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นทำงานในเรื่องของความคิดในการบริหารเงิน  

       เพราะการนำเสนอในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของความรู้ทางการเงิน เนื่องจากเราสามารถค้นหาความรู้เกี่ยวกับเงินหรือแม้แต่เรื่องใด ๆ ในการทำงานจากอินเตอร์เน็ตได้อยู่แล้วในปัจจุบัน  แต่เป็นเรื่องของการนำเสนอ “วิธีคิดและตัวตน” ของผู้บรรยายหรือแม้กระทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการถกแลกเปลี่ยนในแต่ละครั้ง  เป็นการแสดงออกถึง “เหตุผล”  ที่อยู่เบื้องหลังในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่เขาได้ทำไปแล้วนั่นเอง

       ถ้าเราได้เคยติดตามข่าวสารในเรื่องเศรษฐกิจระดับโลก  เราอาจจะเคยได้ยินการประชุมของ “สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF.)  ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนที่ได้จัดตั้งโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ (เคล้าส์ ชวาบ, ผู้ก่อตั้งและประธานสภาเศรษฐกิจโลก. การปฏิวัตอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) : 2016))  

       การประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนดังกล่าว  มีการเชิญมีผู้เข้าร่วมการประชุม ณ เมืองดาวอส เป็นประจำทุกปี  ทั้งระดับผู้นำ ผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจ องค์การระหว่างประเทศ และนักวิชาการจากทั่วโลก  มาร่วมกันถกแลกเปลี่ยนในเรื่องเศรษฐกิจและทิศทางใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นรวมถึงการตระหนักถึงปัญหาต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบหรือการเตรียมความพร้อมรับมือร่วมกัน  

       จนนำไปสู่การสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ และขยายเวทีการแลกเปลี่ยนไปสู่ระดับภูมิภาคอื่น ๆ ที่มิใช่เฉพาะสถานที่ที่เริ่มต้น  ซึ่งในที่นี้รวมถึงประเทศไทยด้วยครับ

       ที่ยกประเด็นเรื่อง WEF มากล่าวถึงก่อนหน้านี้  ผมเพียงแค่ต้องการยกตัวอย่างรูปแบบการจัดให้มีการหารือแลกเปลี่ยนมุมมองภายในองค์กร  อาจจะฟังดูเหมือนค่อนข้างใหญ่โต  แต่ในมุมมองผมไม่แตกต่างกันครับ  

       ถ้าในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับโลก  ยังต้องมีการจัดเวทีเฉพาะไว้เพื่อให้ตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมกันหารือหรือถกแลกเปลี่ยนกันในเรื่องที่จำเพาะเจาะจงเช่นเศรษฐกิจ  ผมมองว่าในระดับบุคคลหรือระดับองค์กรก็ไม่แตกต่างกัน   เพียงแต่ประเด็นที่เราจะนำมาร่วมกันแลกเปลี่ยนนั้น  ก็อาจจะตีกรอบให้เล็กลงในระดับที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา  เช่น เรื่องการบริหารเงินส่วนบุคคล  ซึ่งในอนาคตก็อาจพัฒนาไปสู่การแลกเปลี่ยนมุมมองในการทำงานอื่นๆ  ได้มากขึ้น  โดยการนำรูปแบบเช่นนี้มาใช้ให้มีประสิทธิภาพภายในแต่ละหน่วยงาน

       เพื่อให้กระชับมุมมอง เวลาที่เราทำลักษณะ Forum ภายในหน่วยงานขึ้น  ประเด็นประสบการณ์ที่เราสามารถนำมาแลกเปลี่ยนมุมมองกัน ก็คือ “ประโยชน์”  ที่เราได้รับจากวิธีการคิดหรือที่ได้ลงมือทำ  ข้อเสียหรือผลกระทบที่เราควรระมัดระวัง  เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่  ถ้าทำแล้วเป็นอย่างไร  ทำไมถึงนำเสนอวิธีคิดแบบนั้น
 
       “วิธีคิด”  ของผู้ที่มาถ่ายทอดนั้น  คือ ส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง  (ประยุกต์มาจาก : โยอิจิ อิโนอุเอะ, ว่างงาน แต่ไม่ว่างเงิน. แปลโดย มนชนก มากบุญประสิทธิ์. 2558) ของทั้งผู้ถ่ายทอดและผู้ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนของแต่ละท่านนั่นเองครับ


สุรศักดิ์  อัครอารีสุข

ให้เงินค่าขนม

       Adam Khoo กับ Keon Chee  เจ้าของผลงาน  Bringing Up Money Smart Kids (2015) หรือในชื่อภาษาไทยว่า  เลี้ยงลูกให้ใช้เงินเป็น  แปลโดย พรรณี  ชูจิรวงศ์  หนังสือขายดีอันดับหนึ่งของประเทศสิงคโปร์
       ได้แนะนำ  เคล็ดลับ  ที่สำคัญอันหนึ่ง  สำหรับใช้ในการเลี้ยงลูกให้แก่เรา ๆ ในฐานะพ่อ-แม่
       เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการ  ปลูกฝังทักษะเรื่องเงิน  ให้แก่ลูก ๆ ตั้งแต่ยังเล็ก  นั่นคือ  การให้เงินค่าขนม  แก่เด็ก
       ทั้งสองบอกว่า  วัยที่เหมาะสมที่สุด  ที่เราจะเริ่มให้เงินค่าขนมได้  เขาบอกว่าประมาณ 6 ขวบขึ้นไป  (เป็นช่วงเข้าเรียนชั้นประถม)
       เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เขาเริ่มต้องใช้เงินภายในโรงเรียน  และเริ่มเรียนรู้วิธีการบริหารเงิน  ว่าเงินใช้ทำอะไรได้บ้าง  ซื้ออะไรได้บ้าง  ฯลฯ
       โดยไม่ตัดประเด็นที่ว่า  หากลูกอายุมากกว่านี้  ก็ยังสามารถที่จะเริ่มต้นสอนเรื่องนี้ได้
       ทั้งสองยังบอกอีกว่า  พ่อแม่ควรบอกลูกเลยว่า ... 
       เราคาดหวังว่าจะให้เขานำเงินไปใช้อะไร  โดยไม่ให้พร่ำบอกว่า  เขาต้องซื้ออะไร
       แต่แนะนำให้เราวางกรอบกว้าง ๆ เป็นคำแนะนำแก่เด็ก  ให้เด็กได้รับทราบว่าเขาควรนำเงินไปใช้ โดยแบ่งเป็นสามส่วน  คือ  ออม - ใช้ - ปัน
       ทั้งนีั้  เพื่อป้องกันมิให้เขานำเงินไปซื้อของเล่น  หรือขนมหวาน  เช่น  ลูกกวาดที่ไม่มีคุณค่าอะไร
       ขณะเดียวกัน  พ่อแม่ควรมีการ ทบทวนรายจ่าย กับลูกอย่างต่อเนื่อง  โดยทั้งสองเห็นว่าควรทบทวนอย่างน้อยปีละสองครั้ง
       แนวทางข้างต้น  ถือเป็นรูปแบบ  การบริหารเงิน  อย่างง่ายที่เราทุกคนสามารถนำไปใชสอนเด็ก ๆ  ที่เป็นลูกหลานของเราได้อย่างดีมากเลยครับ
       ผู้เขียนทั้งสองยังให้มุมมองเพิ่มเติมอีกว่า  การให้เงินค่าขนม  กับเด็ก  ก็เปรียบได้กับการที่เด็กมีรายได้ประจำ  ซึ่งเราต้องให้อย่างต่อเนื่องและต้องไม่ขาดตอน
       เปรียบได้กับตัวเรา  ที่ยังตัองได้รับเงินเดือน  ตรงเวลา
       การมีรายได้ประจำนั้น  ผู้เขียนมองว่าเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้  วิธีการบริหารเงิน อย่างถูกต้อง
       เพราะเมื่อมีเงินเป็นของตนเอง  เขาจะได้เริ่มลองออมเงินเพื่อวันข้างหน้า
       และเปิดโอกาสให้พวกเขา  สามารถเลือกที่จะนำไปใช้จ่ายกับอะไร  รวมถึงเริ่มต้นหัดแบ่งปันให้กับผู้อื่น
       การให้เงินค่าขนมแก่เด็ก ๆ นั้น  จะช่วยให้โอกาสเขาได้เรียนรู้และลองทำอะไรที่ผิดพลาดได้
       โดยเฉพาะในขณะที่ผลเสียที่ตามมายังไม่มากมายนัก
       ที่สำคัญ  ทำให้เขาได้รู้จักประเมินทางเลือกในการใช้เงิน  ในยามที่เขาต้องการอะไรมากกว่าหนึ่งอย่าง
       และทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่ได้มาด้วยเงินของตนเอง
       ในมุมมองของผม  จากแนวทางที่ผู้เขียนได้นำเสนอมาในข้างต้น  ผมอยากเรียกว่าวิชา  บริหารเงิน 101  แบบของจริงเลยครับ
       การมีกรอบหรือเฟรมเวิร์ก (framework) คือ  ออม - ใช้ - ปัน  ถือเป็นการกำหนดวัตถุประสงค์การบริหารเงินที่กระชับ  ทำให้ง่ายต่อการจดจำและนำไปปฏิบัติ
       รวมถึงเราสามารถใช้เป็น กรอบในการวิเคราะห์ การบริหารเงินของตัวเราไปพร้อมกันด้วย 
       เช่น ... เราออมเงินได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ?
       การใช้จ่ายของเราใช้ในเรื่องที่เป็นประโยชน์หรือไม่ ?
       ถึงเวลาที่เราควรจะแบ่งปันให้แก่คนอื่นหรือยัง ? ... ฯลฯ
       หรือหากมองในภาพรวม  ... ทำไมเมื่อเราบริหารเงินด้วยวิธีการนี้แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ ?  ... หากบรรลุเป้าหมายแล้วเราจะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร...
       ซึ่งการที่เราบอกถึงวัตถุประสงค์ในการให้เงินค่าขนมแก่ลูกของเรา  ก็เหมือนเป็นการ ทำข้อตกลงเบื้องต้น  ให้เด็กได้รับทราบ
       เป็นเหมือนสัญญาที่เราในฐานะพ่อแม่ได้ทำกับลูกไปพร้อม ๆ กับการสอน การใช้เงินอย่างถูกวิธี
       ที่สำคัญที่สุด  เรายังมีการติดตามประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม  นั่นก็คือ  การทบทวนรายจ่ายกับลูกของเราอย่างน้อยปีละสองครั้ง
       เหมือนกับเป็นการทบทวนวัตถุประสงค์เมื่อแรกเริ่มระหว่างเราและลูกอย่างสม่ำเสมอ
       ถือเป็นการ  ให้ความรู้ทางการเงิน  ตั้งแต่พื้นฐานอย่างแท้จริงครับ
สุรศักดิ์  อัครอารีสุข